ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       งา (Sesame) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesamum indicum L. อยู่ในวงศ์ Pedaliacae นับเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จักและปลูกเพื่อบริโภคกันมานาน โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับงาเมื่อประมาณ 5,500 ปี ก่อนคริสตกาล ที่หุบเขา Harapa ในคาบสมุทรอินเดีย การปลูกงาพบมากในบริเวณเขตร้อนที่มีปริมาณน้ำน้อย ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร มีดอกสีขาวหรือสีชมพู เมล็ดงาอยู่ในฝักและแตกออกเมื่อแก่ ในประเทศไทยงาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เพราะสามารถนำเมล็ดมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งใช้ประโยชน์เป็นอาหารของมนุษย์ และใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสายพันธุ์งาที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ตามสีของเมล็ด คือ งาดำ งาขาว งาแดง และงาดำแดง

                

                                       (ที่มา : https://farmerspace.co/                 (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/50/plant/36_plant/36_plant.htm)
                                         การปลูก-งาดำ-และไอเดียก/)
 
       การใช้ประโยชน์ของเมล็ดงานิยมนำมาใช้บริโภคโดยตรง คือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารชนิดต่างๆ เช่น ขนมไทย คุกกี้ ขนมปัง แฮมเบอร์เกอร์ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำสลัด และการนำเมล็ดมาสกัดเป็นน้ำมันงา (Sesame oil) พบว่าการใช้ประโยชน์จากเมล็ดงามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสกัดน้ำมัน และผลพลอยได้จากการสกัดน้ำมันยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทั้งเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ทำปุ๋ย ใช้เป็นเชื้อเพลิง 
 
                                                                  เมล็ดงาใช้บริโภคโดยตรง                                             เมล็ดงานำมาสกัดเป็นน้ำมันงา
 
                               
 
                                      (ที่มา : http://thaifood.robinramp.com/sweet-shiny-coconut             (ที่มา : http://www.otoptoday.com/newweb/
                                      -sticky-rice-thai-dessert-khao-niew-kaew-ข้าวเหนียวแก้ว/)                       view_product.php?product_id=679)
 
       ปัจจุบันมีการบริโภคน้ำมันงากันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเมล็ดงาอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด คือ 
       1. น้ำมัน เมล็ดงามีปริมาณน้ำมันอยู่ประมาณ 34-64 เปอร์เซ็นต์ โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่ในน้ำมันเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ได้แก่ กรดโอเลอิก (Oleic acid) และกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายและดีต่อต่อสุขภาพ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ป้องกันเลือดข้น ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และช่วยบำรุงผิวให้อ่อนนุ่ม    
       2. โปรตีน งามีปริมาณโปรตีนอยู่ประมาณ 16-33 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณของกรดอะมิโนอาจแตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ ซึ่งโปรตีนในงาช่วยสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ 
       3. คาร์โบไฮเดรต ปริมาณคาร์โบไฮเดรตในเมล็ดงามีประมาณ 18-20 เปอร์เซ็นต์ มีกลูโคส และฟรุกโตส อยู่ในปริมาณน้อย  
       4. แร่ธาตุและวิตามิน เมล็ดงาเป็นแหล่งของธาตุอาหารที่สำคัญคือ แคลเซียม แมกนีเซียม ทองแดง เหล็ก ฟอสฟอรัส สังกะสี แมงกานีส และวิตามินชนิดต่างๆ โดยแร่ธาตุและวิตามินเหล่านี้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ 
       5. สารลิกแนน (Lignans) เมล็ดงามียังสารสำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารลิกแนน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) โดยสารในกลุ่มนี้ ได้แก่ เซซามิน (Sesamin) เซซาโมลิน (Sesamolin) และเซซามอล (Sesamol) ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงส่งเสริมการทำงานของวิตามินอี 
       จะเห็นได้ว่า น้ำมันงานอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังเป็นน้ำมันพืชที่มีคุณภาพดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ ส่งผลให้น้ำมันงากลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ เพราะสามารถช่วยป้องกัน รักษา และบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้ เช่น ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง บำบัดโรคข้อเข่าเสื่อม ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคสมองเสื่อม ส่งเสริมการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพ และบำรุงผิวพรรณเพื่อลดริ้วรอย ทั้งนี้ อาจนำเมล็ดงามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการมากขึ้น ได้แก่ งาผงชงดื่ม น้ำงา ซุปงาดำ งากวน ข้าวเกรียบงา ครีมงา ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง งา : ธัญพืชมากคุณประโยชน์  ได้จากเอกสารภายในสำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยสามารถสืบค้นได้จากฐานข้อมูลระบบห้องสมุดอัตโนมัติในเว็บไซต์ http://library.dss.go.th/ จากคำสืบค้น คือ
                         -  งา (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=งา)
                         -  น้ำมันงา (http://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-search.pl?q=น้ำมันงา)
 
เอกสารอ้างอิง
คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. งา. พืชเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547,
       หน้า 202-214.
พรดี  จันทรเวชชสมาน. คุณประโยชน์มหาศาลของงา และงา : น้ำมันงาบำบัดโรค. ประโยชน์มหัศจรรย์ : น้ำมันงา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์เฮลท์, 2559, หน้า 15-71.
วาสนา  วงษ์ใหญ่. องค์ประกอบของเมล็ด. งา : พฤกษศาสตร์ การปลูก ปรับปรุงพันธุ์ และ การใช้ประโยชน์. กรุงเทพฯ : เปเปอร์เมท, 2550, หน้า 227-249.
วาสนา  วงษ์ใหญ่. งา...ราชินีแห่งพืชน้ำมัน. ชุดความรู้ด้านเทคโนโลยีพันธุ์พืชไทย : งา. กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ,
       2548, หน้า 6-11.
ศานิต  สวัสดิกาญจน์. ลักษณะทั่วไปของงา. พืชน้ำมัน : งา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2558, หน้า 1-80.