ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       กระจูดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articulate (Retz.) Domin จัดอยู่ในวงศ์ Cyperaceae สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือบริเวณที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี มักกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยพบมากทางภาตใต้และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช และระยอง โดยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระจูด คือ

       1. ลำต้น มีลักษณะกลม ด้านในกลวง มีเยื่ออ่อนคั่นเป็นข้อๆ สีเขียวอ่อน มีขนาดตั้งแต่เท่าก้านไม้ขีดไฟจนถึงเท่าแท่งดินสอดำ ลำต้นแข็งเป็นกลุ่มแน่นตามแนวของเหง้า
       2. ใบ ใบจริงของกระจูดลดรูป และมีกาบใบแผ่ออกมา ส่วนใบประดับมีลักษณะคล้ายทรงกระบอก
       3. ดอก มีลักษณะเป็นช่อ รูปทรงรีหรือรูปขอบขนานคล้ายทรงกระบอก ปลายมน และมักโค้งลงเล็กน้อย
       4. ผล มีลักษณะเป็นรูปไข่ มีความแข็ง และมีหนามละเอียดที่ส่วนปลายของผล
 
                                        
 
                                                      (ที่มา : สำนักหอพรรณไม้, 2560)                                                  (ที่มา : ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)
 
       กระจูดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ในภาคใต้นิยมนำต้นกระจูดมาตากแห้งสำหรับใช้จักสานเป็นเสื่อปูรองนั่งที่เรียกกันว่า “เสื่อกระจูด” หรือ “สาดกระจูด” โดยการสานเสื่อกระจูดนิยมสานลวดลายมาตรฐาน คือ ลายขัด ลายสอง ลายสาม เพราะใช้เวลาในการสานไม่นาน และเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้า สำหรับใช้ประดับตกแต่งบ้าน หรือใช้ปูลาดในหลายโอกาส รวมถึงอาจใช้ประกอบทำเป็นฝาบ้าน หรือเพดานบ้าน ต่อมามีการพัฒนาลวดลายที่หลากหลายมากชึ้น เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายดอกจันทร์ ลายก้านต่อดอก ลายโคม เป็นต้น และยังมีการนำกระจูดมาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้แก่ กระเป๋า กระบุง ตะกร้า กระสอบ หมวก แฟ้มเอกสาร และที่รองแก้ว โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ค่านิยม และวัตถุประสงค์การใช้สอย
 
                                        
 
                                   (ที่มา : http://www.thaitambon.com/product/141211524)                      (ที่มา : https://soclaimon.wordpress.com/
                                                                                                                                                   2013/09/16/ทำมาหากิน-จักสานกระจูด/)
 
       กระบวนการผลิตเครื่องจักสานจากกระจูดประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
       1. การเตรียมวัตถุดิบ เป็นวิธีการเตรียมต้นกระจูด คือ
              (1) การเก็บต้นกระจูด เลือกต้นกระจูดที่ไม่แก่จัด และไม่อ่อนเกินไป ลำต้นยาว เพราะลำต้นยาวสามารถนำไปจักสานได้ปริมาณมากกว่าลำต้นสั้น ถอนต้นกระจูดจากกอครั้งละ 2-3 ต้น เลือกขนาดเท่าๆ กันมากองรวมกัน จากนั้นนำกระจูดที่ถอนได้มามัดเป็นกำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร
              (2) การคลุกโคลนต้นกระจูด เมื่อมัดต้นกระจูดตามขนาดเป็นกำแล้วให้นำไปคลุกกับน้ำโคลนขาวที่เตรียมไว้ เพื่อทำให้กระจูดมีมีขาวนวล เพิ่มความเหนียวให้กับเส้นใย และทำให้เส้นใยไม่แห้งกรอบ หรือบิดจนใช้การไม่ได้ 
              (3) การนำไปตากแดด นำต้นกระจูดที่คลุกน้ำโคลนขาวแล้วไปตากบนพื้นที่ราบเรียบ โดยวางกระจายเรียงเส้น เพื่อให้กระจูดแห้งทั่วทั้งลำต้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตากประมาณ 2-3 แดด 
              (4) การคัดต้นกระจูด โดยแยกต้นที่มีขนาดเล็ก และต้นที่มีขนาดใหญ่ออกจากกันเป็นมัดๆ
              (5) การรีดกระจูด นำต้นกระจูดที่ตากแห้งแล้วมัดเป็นกำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-20 เซนติเมตร มาวางบนพื้นราบ จากนั้นรีดต้นกระจูดให้เรียบตามความต้องการเพื่อให้ต้นกระจูดนิ่ม และจักสานง่าย โดยการรีดกระจูดมีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้เครื่องจักรรีด และการใช้ลูกกลิ้งรีด 
              (6) การย้อมสีกระจูด นำต้นกระจูดที่รีดแล้วมาย้อมสีเพื่อให้ได้สีตามต้องการ โดยแบ่งกระจูดออกเป็นมัด มัดละ 20-25 เส้น แล้วนำสายยางมัดที่ปลายกระจูดเพื่อไม่ให้เส้นกระจาย นำกระจูดจุ่มในน้ำให้ชุ่ม จากนั้นเอาไปต้มในถังน้ำสีที่ต้มเดือดบนเตาไฟนาน 15-20 นาที เมื่อครบเวลาให้นำกระจูดขึ้นมาล้างสีส่วนเกินออกด้วยน้ำสะอาด แล้วจึงนำไปตากที่ราวเพื่อผึ่งลมให้แห้ง และนำเส้นกระจูดที่แห้งมามัดรวมกันแล้วรีดอีกครั้ง เพื่อให้เส้นใยนิ่มและเรียบ สีที่นิยมย้อมกันทั่วไป ได้แก่ สีม่วง สีแดง และสีเขียว
 
                                       
 
                                       
 
                                       
 
(ที่มา : ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)
 
       2. การจักสานกระจูด นำกระจูดที่ย้อมสีและรีดแล้วมาวางเรียงให้ปลายกับโคนต้นวางสลับกัน เนื่องจากหากไม่สลับจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียรูปทรงได้ โดยต้องวางเรียงกระจูดสีพื้น และสีอื่นๆ ตามลวดลายที่คิดไว้ ซึ่งลวดลายที่ใช้ในการจักสานจะบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น จากนั้นสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามต้องการ
       3. การตกแต่งผลิตภัณฑ์ หลังจากจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ แล้ว ให้นำผลิตภัณฑ์มาตกแต่งก่อนนำไปใช้งาน เช่น เสื่อ นำมาเก็บริมและตัดหนวด กระเป๋าที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เรียกว่า กระเป๋าตัวดิบ นำมาประกอบด้วยโครงพลาสติก โดยอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความคงทนและความสวยงามให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระดาษ กาวลาเท็กซ์ กาวเหลือง น้ำยาเคลือบเงา ด้าย ผ้า ซิบ ห่วง สายหนัง กระดุม และโครงพลาสติก
       4. การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ เครื่องจักสานจากกระจูดควรเก็บไว้ในที่แห้ง และหมั่นนำออกมาผึ่งแดดเป็นระยะๆ
 
                                        
 
                                      (ที่มา : http://mediastudio.co.th/2017/06/12/162372/)                                (ที่มา : ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)
 
       ปัจจุบันการบริโภควัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากกระจูดได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้มากขึ้นไปด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้เป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญของชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ดีให้กับชุมชนและประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
 
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร. กระจูด.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 7 กันยายน 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://esc.agritech.doae.go.th/ebooks/download-pdf/แผ่นพับกระจูด.pdf
เปรมฤดี  ดำยศ. การขยายพันธุ์และการอนุรักษ์พันธุกรรมกระจูด (Lepironia articulate (Retz.) Domin) 
       ในพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 7 กันยายน 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/9617/1/385124.pdf
ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) กรมป่าไม้ . 
       รายงานสรุปผลภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2553 เรื่อง หัตถกรรมจักสานกระจูด.  [ออนไลน์] 
       [อ้างถึงวันที่ 7 กันยายน 2560]  เข้าถึงจาก : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf