ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       อุตสาหกรรมแก้วเป็นอุตสาหกรรมที่มีสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตแก้วในเชิงอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อนและแตกต่างกันตามชนิดของผลิตภัณฑ์ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแก้วสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

       1. วัตถุดิบหลัก (Main constituents) ได้แก่ 

              - ทรายแก้ว (Sand, Quartz SiO2) เป็นทรายชนิดหนึ่งที่มีซิลิกาเป็นส่วนประกอบกว่า 99.5% ทรายแก้วเมื่อหลอมจะกลายสภาพเป็นโครงสร้างหลักของเนื้อแก้ว ทรายแก้วที่นำมาใช้จะแบ่งชนิดการใช้งานเป็นทรายแก้วขาว ซึ่งมีส่วนผสมของเหล็กอ็อกไซด์(Fe2O3) ในปริมาณที่น้อย เหมาะจะใช้กับการผลิตแก้วใส ส่วนทรายดำหรือสีชาจะมีเหล็กออกไซด์สูงมากกว่า จึงเหมาะที่จะนำไปผลิตแก้วสี เช่น สีชาหรือสีเขียว 
              - โซดาแอช (Sodium carbonate, Na2CO3) มีคุณสมบัติช่วยลดอุณหภูมิในการหลอมเหลว ทำให้สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปทรงซับซ้อนได้ง่ายขึ้น โดยแก้วที่ใช้โซดาแอชเป็นส่วนผสมจะถูกเรียกว่า แก้วโซดาไลม์
              - หินปูน (Limestone, CaCO3) มีคุณสมบัติในการเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อแก้ว และทำให้แก้วมีความทนทานต่อสารเคมี
              - โดโลไมท์ (Dolomite, CaMg(CO3)2) มีคุณสมบัติช่วยลดอุณหภูมิในการหลอมเหลว แต่สิ่งที่ควรระวังของการใช้โดโลไมต์ในสูตรแก้ว คือ อาจทำให้แก้วมีสีเขียว เนื่องจากมีเหล็กออกไซด์ที่ปนเปื้อนมากเกินไป
              - หินฟันม้า (Feldspar) มีคุณสมบัติในการเพิ่มความคงทนของเนื้อแก้ว
              - อะลูมินา (Alumina, Al2O3)  เป็นวัตถุดิบที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทางเคมี และเพิ่มการทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลันของแก้วได้มากขึ้น เนื่องจาก Al2O3 มีบทบาทในการทำให้โครงข่ายแก้วมีความแข็งแรงของเพิ่มขึ้น
              - เศษแก้ว (Cullet) ส่วนใหญ่เศษแก้วจะถูกใช้ในปริมาณร้อยละ 40-70 เพื่อเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาในการหลอมละลายของวัตถุดิบตัวอื่นๆ การใช้เศษแก้วเป็นส่วนผสมในวัตถุดิบจะช่วยให้สามารถประหยัดพลังงานความร้อนในการหลอมแก้ว เนื่องจากการหลอมเศษแก้วจะใช้พลังงานต่อหน่วยในการหลอมน้อยกว่าการหลอมวัตถุดิบผสม
       2. วัตถุดิบรอง (Minor constituents/Additive) การผลิตแก้วนอกจากจะใช้วัตถุดิบหลักแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีชนิดอื่น เพื่อปรับปรุงสมบัติของแก้วให้มีความเหมาะสมต่อการขึ้นรูปและการนำไปใช้งาน โดยวัตถุดิบรองที่ใช้ในการผลิตแก้วแสดงดังตาราง
 

หน้าที่

สารเคมี

Melting accelerators

Lithium carbonate (Spodumene), Sodium sulfate (Salt cake),

Fluorspar, Sodium nitrate (Saltpetre) oxidizing agent

Refining agents

Antimony, Arsenic, Cerium oxide, Saltpetre, Sodium sulfate

Colouring agents

Cadmium, Chromium, Cobalt, Copper, Iron, Selenium

Opacifiers

Fluorine (Cryolite, Fluorspar), Phosphorus (Bone ash)

Decolourising agents

Cobalt and Selenium, Erbium Neodymium, Manganese

 
                                             (ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2556)
 
       กระบวนการผลิตแก้วประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ คือ 
       1. การเตรียมวัตถุดิบ (Preparing and mixing of raw materials) ในกระบวนการผลิตแก้วต้องควบคุมองค์ประกอบของวัตถุดิบที่ใช้ให้ตรงตามมาตรฐานและคงที่ตามที่คำนวณไว้ จากนั้นชั่งน้ำหนักวัตถุดิบตามปริมาณที่ต้องการ สำหรับเข้าสู่ขั้นตอนการผสมเพื่อให้วัตถุดิบผสมเป็นเนื้อเดียวกัน 
       2. การหลอม (Melting) การหลอมแก้วประกอบด้วยขั้นตอนย่อย 3 ขั้นตอน คือ การหลอมแก้ว (Melting) การกำจัดฟองก๊าซ (Fining) และการทำให้ส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว (Homogenization) การหลอมแก้วเป็นขั้นตอนที่ใช้พลังงานสูงที่สุดในกระบวนการผลิตแก้ว เนื่องจากต้องทำให้เตาหลอมมีอุณหภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา โดยอุณหภูมิการหลอมจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและองค์ประกอบของแก้ว 
       3. การขึ้นรูป (Forming) การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์แก้วจะต้องขึ้นรูปในขณะที่อยู่ในสภาพที่ก้อนแก้วมีความหนืดที่อุณหภูมิสูง จึงต้องมีการควบคุมความหนืดให้เหมาะสม การขึ้นรูปขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะของผลิตภัณฑ์ โดยวิธีการขึ้นรูปมีอยู่หลายวิธี เช่น การเป่า (Blowing) การอัดด้วยความดัน (Pressing) การดึง (Drawing) การรีด (Rolling) การหล่อแบบ (Casting) เป็นต้น ซึ่งการขึ้นรูปแต่ละวิธีจะทำในขณะที่เนื้อแก้วมีอุณหภูมิและความหนืดในช่วงต่างๆ กัน
       4. การอบ (Annealing) ผลิตภัณฑ์แก้วที่ขึ้นรูปแล้วต้องผ่านการอบเพื่อลดความเครียดในเนื้อแก้วจากขั้นตอนการขึ้นรูป และเป็นขั้นตอนที่ทำให้โครงสร้างแก้วมีความเสถียร ความเสถียรของแก้วจะส่งผลทำให้สมบัติต่างๆ ของผลิตภัณฑ์แก้วมีความคงที่ที่อุณหภูมิห้อง
       5. การตกแต่ง (Finishing) แก้วบางประเภทเมื่ออบแล้วจะคัดเลือกแก้วที่ไม่ได้คุณภาพออกก่อนที่จะนำไปบรรจุ และแก้วบางประเภทต้องนำไปทำการตกแต่งขั้นสุดท้ายก่อน เช่น การทำความสะอาด การขัดด้วยหินขัด การขัดมัน การตัด การขัดผิวด้วยทรายละเอียด เป็นต้น โดยการตกแต่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน และความต้องการของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์
 
                (ที่มา : เอกรัฐ  มีชูวาศ, 2560)
 
       ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์แก้วที่ผลิตได้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จึงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติสำคัญต่างๆ ของแก้วตามมาตรฐานอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
              - การวิเคราะห์ทดสอบทางด้านเคมี (Chemical properties) แก้วเป็นวัสดุที่มีความเสถียรสูงแต่ก็มีความจำเป็นต้องทำการทดสอบทางด้านเคมี เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภคและประกอบการส่งออก การวิเคราะห์ทดสอบแก้วทางด้านเคมี ได้แก่ การทดสอบหาองค์ประกอบทางเคมีของแก้ว การทดสอบความทนทานต่อสารเคมี การทดสอบความทนกรด-ทนด่างฟอสเฟต และการทดสอบความทนทานต่อน้ำ 
 
                                                              
 
(ที่มา : ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2554)
 
              - การวิเคราะห์ทดสอบทางด้านกายภาพ (Physical properties) เป็นการทดสอบเกี่ยวกับความต้านทานต่อความดันภายใน ความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความเครียดในเนื้อแก้ว สีและการส่องผ่านของแสง รวมถึงความทนทานต่ออากาศ 
 
                                                                                     
 
                                                                                 (ที่มา : ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2554)
 
       นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบตำหนิในแก้ว ที่อาจเกิดจากความบกพร่องของเนื้อแก้ว และความบกพร่องในการทำงานของผู้ผลิต โดยตำหนิที่มักพบได้บ่อยในเนื้อแก้ว ได้แก่ เกิดฟองอากาศในเนื้อแก้ว รอยร้าวรอยแตก ผลึกในเนื้อแก้ว แก้วฝ้า และสิ่งปนเปื้อนที่ไม่ละลายในเนื้อแก้ว ดังนั้น การผลิตผลิตภัณฑ์แก้วจึงต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมคุณภาพการผลิต และการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
 
เอกสารอ้างอิง
ณัฐพล  เลาห์รอดพันธุ์. บทที่ 2 กระบวนการผลิตแก้ว. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2560]
       เข้าถึงจาก : https://www.researchgate.net/profile/Nattapol_Laorodphan/publication/286775244_xuts
       ahkrrmkarphlitkaew_Glass_Production_Industry/links/566d7e0308ae1a797e4033fb/xutsah
       krrmkarphlitkaew-Glass-Production-Industry.pdf
ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว กรมวิทยาศาสตร์บริการ. การบริการวิเคราะห์ทดสอบ. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_other/glass.pdf
เอกรัฐ  มีชูวาศ. ความรู้เบื้องต้นด้าน Glass Science และการวิเคราะห์สมบัติของแก้ว. เอกสารการฝึกอบรมของ
       ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว/กลุ่มวัสดุอัจฉริยะและเทคโนโลยีเคลือบผิว, กรุงเทพฯ : กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2560.