ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

             บรรจุภัณฑ์ (Packaging) เป็นสิ่งที่ห่อหุ้มหรือป้องกันผลิตภัณฑ์ที่อยู่ด้านในไม่ให้เกิดความเสียหาย และมีสภาพที่สมบูรณ์จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง หรือความเสียหายที่เกิดจากการหมดอายุผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน เช่น การหยิบจับหรือหอบหิ้วในการขนส่งผลิตภัณฑ์ ช่วยสื่อสารและส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้ดึงดูดและมีความน่าสนใจ หรือสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เรียกได้ว่าเป็นการรวมศาสตร์ทางด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

การออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์         

(ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/news/1662)

บรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

       (1) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่หนึ่ง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัส ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์โดยตรง และเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นแรกที่จะป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เกิดความเสียหาย เช่น พลาสติกห่อหุ้มลูกอม
       (2) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ชั้นที่หนึ่งและจะป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เกิดความเสียหายอีกชั้นหนึ่ง และยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี เช่น กล่องใส่ซองลูกอม
       (3) บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สาม เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ชั้นที่สองและจะเน้นไปที่ป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง เช่น ลังกระดาษลูกฟูก ลังไม้ เป็นต้น
       ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์มีบทบาทสำคัญต่อผู้ผลิต เนื่องจากสามารถทำหน้าที่ส่งเสริมการขาย กระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs หลายรายจึงหันมาให้ความสำคัญในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งวัตถุประสงค์ของการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์มี 2 ประการ คือ
       (1) เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ให้สามารถเอื้อประโยชน์ด้านหน้าที่ใช้สอยได้ดี คุ้มครองผลิตภัณฑ์ได้ ประหยัด มีประสิทธิภาพในการผลิต การบรรจุ การขนส่ง การเก็บรักษา การวางจำหน่าย และการอุปโภค ทั้งนี้ การออกแบบต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเป็นส่วนใหญ่
       (2) เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ให้สามารถสื่อสาร และสร้างผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค โดยใช้ความรู้ทางศิลปะเข้ามาสร้างคุณลักษณะของการบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติต่างๆ ได้แก่ 
              - มีเอกลักษณ์พิเศษของผลิตภัณฑ์
              - สร้างความทรงจำหรือทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ และบริษัทผู้ผลิต
              - ดึงดูดความสนใจของผู้อุปโภคตลอดจนให้เข้าใจถึงความหมาย และคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์
       บรรจุภัณฑ์จึงเป็นกลวิธีทางการตลาดที่ทำให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากขึ้น โดยก่อนการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์นักออกแบบจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
              - ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำการพัฒนาบรรจุภัณฑ์นั้นมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร เช่น รูปทรง ความแข็งแรง น้ำหนัก ของแข็ง ของเหลว หมดอายุช้าหรือเร็ว
              - กลุ่มเป้าหมาย ศึกษากลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายนั้นมีลักษณะนิสัยและความต้องการอย่างไร เพื่อนำไปสู่การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 
              - การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ที่ได้ออกแบบและพัฒนานั้นมีความเหมาะสมกับการขนส่งด้วยวิธีใด เพื่อให้เกิดความสูญเสียระหว่างขนส่งน้อยที่สุด 
              - การใช้งาน บรรจุภัณฑ์ควรใช้งานสะดวก ไม่ซับซ้อน แต่ยังคงไว้ซึ่งมูลค่า และตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างเต็มที่
              - ราคาต้นทุน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีผลต่อการตั้งราคาผลิตภัณฑ์ และราคาต้นทุนบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หรือไม่
              - ข้อกำหนดทางด้านกฎหมาย กฏระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับฉลากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ เช่น การแสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารตามประกาศสำนักคณะกรรมการอาหารและยา
       ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs สามารถวางแผนสำหรับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยอาศัยการวิเคราะห์ด้วยหลัก 5W2H เพื่อให้การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์มีประสิทธิภาพดังนี้
       (1) ทำไม (Why) ปัจจัยหรือเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
       (2) ใคร (Who) ผู้ประกอบการต้องทราบว่าจะออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์นี้เพื่อใคร ทั้งนี้เพื่อเป็น การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน อันจะนำไปสู่การดำเนินการที่มีคุณภาพ
       (3) ที่ไหน (Where) สถานที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ที่ใด มีการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมและครอบคลุมถึงความต้องการของผู้บริโภคในสถานที่   ดังกล่าวหรือไม่
       (4) อะไร (What) ผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ตระหนักว่าตนเองกำลังออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อะไร รูปแบบบรรจุภัณฑ์มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์หรือไม่
       (5) เมื่อไหร่ (When) การออกแบบและพัฒนาต้องเหมาะสมกับช่วงเวลาและกาลเทศะ ว่าเป็นช่วงเวลาใด เทศกาลไหน 
       (6) อย่างไร (How) บรรจุภัณฑ์ที่ได้ออกแบบและพัฒนาขึ้นมานั้นตอบสนองการใช้งานอย่างไร และมีวิธีการใช้งานที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ และใช้งานอย่างไร
       (7) เท่าไหร่ (How much) ผู้ประกอบการต้องรู้ราคาต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เพื่อทำให้สามารถประเมินมูลค่าของบรรจุภัณฑ์ แล้วนำไปกำหนดราคาในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้
 
 
(ที่มา : สุทธิศักดิ์, 2558)
 
เมื่อวางแผนการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก 5W2H แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์สามารถสรุปได้ดังนี้
       (1) การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการจะต้องกำหนดผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายก่อนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทุกครั้ง เพื่อศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ซึ่งนำไปสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจผู้บริโภค โดยอาจบางเป็นอายุ เพศ รสนิยม สังคม เป็นต้น
       (2) การกำหนดชื่อตราสินค้าและการออกแบบตราสัญลักษณ์ ผู้ประกอบการจะต้องกำหนดชื่อตราสินค้าให้ชัดเจนและง่ายต่อการจดจำ เช่น ลักษณะเด่นของผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ หรือสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ โดยตราสินค้าที่ดีนั้นต้องมีความรวบรัด จดจำง่าย แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย และสามารถแปลเป็นภาษาต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำไปจดทะเบียนการค้าโดยไม่ซ้ำกับผู้อื่นได้ ส่วนการออกแบบตราสัญลักษณ์ เป็นการนำชื่อตราสินค้ามาจัดองค์ประกอบให้สวยงาม และเป็นสิ่งส่งเสริมให้ชื่อตราสินค้าคุ้นตา เห็นแล้วสามารถจดจำได้เป็นอย่างดี ซึ่งตราสัญลักษณ์ที่ดีนั้นต้องใช้สีไม่เยอะจนเกินไป เรียบง่าย เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใด 
       (3) การกำหนดและออกแบบรูปทรงโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่มีรูปทรงที่สวยงาม น่าสนใจ มักดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ กระบวนการนี้ต้องคำนึงตั้งแต่รูปทรงที่มีความเหมาะสมกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ด้านใน และวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Packaging materials) เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ พลาสติก เป็นต้น
       (4) การกำหนดและออกแบบลวดลาย ผู้ประกอบการจะต้องระบุข้อมูลต่างๆ ลงบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อความสวยงามและถูกต้องตามระเบียบข้อกำหนด เช่น ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น การออกแบบลวดลายบนบรรจุภัณฑ์จะต้องคำนึงถึงการใช้สี การวางตัวอักษร การวางรูปภาพ เข้าด้วยกันให้เกิดความสวยงามและลงตัว
(ที่มา : http://www.entrustidea.com/PackagingIMG/Packaging2-1.jpg)
 
       ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ออกแบบไว้บนบรรจุภัณฑ์เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ รายละเอียดหรือส่วนประกอบบนบรรจุภัณฑ์จะแสดงออกถึงจิตสำนึกของผู้ผลิตและสถานะของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญบนบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์ ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ รูปภาพผลิตภัณฑ์ ข้อมูลประชาสัมพันธ์ ส่วนประกอบที่สำคัญ   น้ำหนัก/ปริมาตรสุทธิ ราคา ผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันเดือนปี ผลิต/หมดอายุ ข้อมูลโภชนาการ สัญลักษณ์การรับรองต่างๆ (เช่น อย., มผช., มอก. เป็นต้น) วิธีการใช้งาน คำเตือนหรือ ข้อควรระวัง ส่วนประกอบที่เป็นอันตราย และการเก็บรักษา 
       บรรจุภัณฑ์ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ จนถูกกำหนดให้เป็น P ตัวที่ห้าของ 4 P’s Concept ซึ่งประกอบด้วย P1 = Production, P2 = Price, P3 = Place, P4 = Promotion และ P5 = Packaging เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นองค์ประกอบที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ P ทั้ง 4 ของส่วนประสมการตลาด (Marketing Mix) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่ป้องกันผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนกระทั่งถึงผู้อุปโภคบริโภค ทำการแบ่งปริมาณของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้ซื้อ พร้อมทั้งสนองความต้องการจากการใช้ผลิตภัณฑ์จนหมด บรรจุภัณฑ์ก่อให้เกิดความสะดวกในการจัดส่ง ทำให้ลดต้นทุนในการขนส่ง และนำส่งผลิตภัณฑ์ไปยังจุดมุ่งหมายได้ตามกำหนดในบริเวณที่ขาย และทำหน้าที่ส่งเสริมการขาย โดยการสื่อข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ซื้อ รวมถึงยังมีส่วนในการกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงย่อมจะต้องบรรจุหีบห่อด้วยวัสดุที่มีค่า และตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไปพร้อมๆ กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้านการตลาดที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
 
เอกสารอ้างอิง
ดำรงศักดิ์  ชัยสนิท และ ก่อเกียรติ  วิริยะกิจพัฒนา. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์. การบรรจุภัณฑ์ (Packaging), กรุงเทพฯ : วังอักษร,
       2542, หน้า 17-18. 
สมพงษ์  เฟื่องอารมย์. การพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก (Packaging for development). บรรจุภัณฑ์กับการส่งออก,
       กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้า 331-332.
สุกฤตา  หิรัณยชวลิต. กว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ (Background of package).  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 18 มกราคม 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/april_june_11/pdf/aw32.pdf  
สุทธิศักดิ์  กลิ่นแก้วณรงค์. การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ OTOP.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 18 มกราคม 2560]  
       เข้าถึงจาก : http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2558_63_199_p19-21.pdf 
สุทธิศักดิ์  กลิ่นแก้วณรงค์. การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้า OTOP สู่การส่งออกบรรจุภัณฑ์. เอกสารการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
       หลักสูตร “การเพิ่มกลยุทธ์การตลาดแก่ผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน”, กรุงเทพฯ : สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2559.