ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
คุณสมบัติของส่วนประกอบหลักของน้ำยาปรับผ้านุ่ม (components of fabric softener)
              สารลดแรงตึงผิวที่มีประจุบวกเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำยาปรับผ้านุ่มซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
              • สารที่มีประจุบวกบางตัวมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค  ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลหรือสถานที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ
              • เป็นสารทำความสะอาดช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียจำพวกสแตฟฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus)
              • ใช้ควบคุมการต้านไฟฟ้าสถิต เช่น เป็นส่วนผสมในครีมนวดผม (hair conditioners) และน้ำยาปรับผ้านุ่ม
              • ปกติหลังการซักล้าง ผมและผ้าจะมีประจุลบเนื่องจากผมและผ้าจะดูดประจุลบของสารลดแรงตึงผิวเข้ามา  ซึ่งสารลดแรงตึงผิวที่มีประจุบวกจะถูกดูดกับประจุลบที่หลงเหลืออยู่บนผมและผ้า ทำให้ประจุของผมและผ้ากลายเป็นกลาง
              • การเรียงตัวของโมเลกุลในน้ำยาปรับผ้านุ่มบริเวณใกล้กับผมและผ้าจะมีประจุบวก  ส่วนหางที่เป็นไฮโดรคาร์บอนจะชี้ออกสู่ด้านนอก ทำให้มีการต้านไฟฟ้าสถิต
              สารประกอบไดไฮโดรจิเนเตตทาโลวไดเมทิลแอมโมเนียม (dihydrogenated tallow dimethyl ammonium compounds) เป็นหนึ่งในสารประกอบของซัลเฟตควอเทอนารีแอมโมเนียม (sulfated quaternary ammonium compounds) ส่วน “DSDMAC”  (รูปที่ 1) เป็นสารไดสเตียริลไดเมทิลแอมโมเนียม คลอไรด์ (distearyl dimethyl ammonium chloride) ซึ่งเป็นสายโซ่ยาวที่ไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) ประกอบด้วยหมู่สเตียริล (stearyl groups)  ที่เป็นหมู่แสดงคุณสมบัติของสารหล่อลื่น 
 
รูปที่ 1  โครงสร้างของ distearyl dimethyl ammonium chloride (DSDMAC)
 
              วัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ดีที่สุดจะต้องเป็นวัตถุดิบที่ทำให้ผ้านุ่มโดยไม่เปลี่ยนความสามารถในการดูดน้ำ (water absorption capacity) และการเปียกน้ำ (rewetting ability) ของเสื้อผ้า  อีกทั้งไม่ทำให้เกิดข้อเสียต่างๆ ในช่วงเวลาอันสั้น เช่น ความรู้สึกว่ามีไขมันมาสะสม หรือข้อเสียในระยะยาว คือ การระคายเคืองผิวหนัง (skin irritation) หรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม  การเลือกสารออกฤทธิ์ที่ใช้ผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่มจะต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
              1. การสะสมของน้ำยาปรับผ้านุ่มบนเนื้อผ้า (build-up) น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ให้ความนุ่มที่ดีที่สุดจะให้ความสามารถในการดูดซับน้ำของผ้า (textile  rewetting) แย่ที่สุด  เนื่องจากความนุ่มของผ้ามาจากส่วนที่ไม่ชอบน้ำของสายโซ่ยาวที่มีหมู่อัลคิล (alkyl groups) หรือหมู่สเตียริล  (stearyl groups)  ผิวหน้าของผ้าที่ถูกปกคลุมด้วยส่วนที่ไม่ชอบน้ำเหล่านี้จะทำให้น้ำแทรกซึมผ่านเนื้อผ้าได้ยากขึ้น น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้ DSDMAC เป็นสารออกฤทธิ์จะมีการสะสมบนเนื้อผ้าฝ้าย  การสะสมนี้จะเพิ่มมากขึ้นถ้าผงชักฟอกที่ใช้ซักผ้านั้นมีส่วนที่ตกค้างหลงเหลืออยู่บนผ้าหลังจากการล้างน้ำ  ผงซักฟอกที่ตกค้างจะไปเพิ่มประจุลบให้กับเนื้อผ้ามากขึ้น  ทำให้ผ้าดึงดูดประจุบวกของน้ำยาปรับผ้านุ่มมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ตกค้างอยู่บนเนื้อผ้าไม่ควรเกิน  0.1% ของน้ำหนักผ้า แต่ปริมาณน้ำยาปรับผ้านุ่มที่พบมักจะมีปริมาณระหว่าง 0.1 - 0.2% ของน้ำหนักผ้า
              2. การตกตะกอนของน้ำยาปรับผ้านุ่มบนเนื้อผ้า (deposits on cloth)  น้ำยาปรับผ้านุ่มไม่สามารถกำจัดออกไปจากเสื้อผ้าได้หมดภายหลังจากการล้างน้ำจนหมดฟองแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มโดยตรง ภายหลังกระบวนการซักผ้า  น้ำยาปรับผ้านุ่มจะยังคงติดอยู่บนผ้าและรู้สึกได้จากการสัมผัส เช่น เกิดอาการแพ้ (allergy) อาการระคายเคือง (irritating) หรือการเพิ่มโอกาสที่จะเป็นภูมิแพ้แบบไฮโปแอลเลอจินิก(hypoallergenic)  น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้สาร DSDMAC เป็นสารออกฤทธิ์นั้นจะไม่กระจายตัวบนเสื้อผ้าอย่างสม่ำเสมอ แต่จะติดกันเป็นกระจุก ดังนั้นน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ดีควรจะต้องมีสารหรือเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้สารออกฤทธิ์กระจายตัวบนเสื้อผ้าได้อย่างสม่ำเสมอ