ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
หลักการทำงานของสารออกฤทธิ์ที่ทำให้ได้คุณสมบัติบางอย่างจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม
              1. การทำให้ผ้านุ่ม (fabric softness) สารประกอบของน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ติดผ้ามีปริมาณมาก ในบางกรณีอาจมากถึง 90%  ส่วนที่ติดผ้าของน้ำยาปรับผ้านุ่มทำให้มีการหล่อลื่นที่ผิวผ้าและระหว่างใยผ้า  ผ้าจึงนุ่มมือเวลาสัมผัส (softer hand/ feel) เสื้อผ้าที่นุ่มทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกสบายระหว่างการสวมใส่  น้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีสารไดอัลคิล ควอเทอนารี (dialkyl quaternary) ประกอบด้วยประจุบวกของหมู่เอมีน (amine group) และสายที่ต่อกันยาวของไขมัน (fatty chains)  เมื่อสารควอเทอนารี(quaternary) ติดกับผ้าและสายที่ต่อกันยาวของไขมันจะเรียงตั้งฉากกับผิวผ้า  ช่วยให้ผ้าไม่พันกัน ทำให้ดูหนาและมีปริมาตรมาก
              2. การต่อต้านไฟฟ้าสถิต (anti-static) ไฟฟ้าสถิตเป็นความไม่สมดุลของประจุไฟฟ้าหรืออิเล็กตรอน(electrons) บนผิวหน้าของเสื้อผ้าบางชนิด  วัสดุที่ไม่เหมือนกันเมื่อนำมาติดกันและแยกจากกันสามารถให้อิเล็ก ตรอนที่รบกวนความสมดุลของประจุ  แรงเสียดทานและปริมาณความชื้นต่ำในอากาศจะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการนี้  เมื่อเสื้อผ้าถูกทำให้แห้งโดยเครื่องอบผ้า  ผ้าที่ทำด้วยเส้นใยที่มีส่วนของน้ำตามธรรมชาติ (natural fibers)ได้แก่ ฝ้าย(cotton) ลินิน (linen) และขนสัตว์ (wool) ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีปริมาณน้ำสูง (high moisture regain) สามารถกระจายประจุไฟฟ้าสถิตได้ดีกว่าผ้าใยสังเคราะห์ (synthetic fibers) เช่น พอลิเอสเตอร์ ไนลอน และอะครีลิก (acrylic) ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีปริมาณน้ำต่ำ (low moisture regain) ทำให้มีประจุไฟฟ้าสถิตสะสมบนผ้าในปริมาณมากและสามารถรวมตัวกันแน่น (clinging) น้ำยาปรับผ้านุ่มทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านไฟฟ้าสถิต โดยช่วยเก็บความชื้นให้เพียงพอในรูปของสารหล่อลื่นที่มีลักษณะเป็นแผ่นฟิลม์ (lubricating film) ที่ดูดไอน้ำจากอากาศเพื่อไปกระจายประจุไฟฟ้าสถิตบนเนื้อผ้าใยสังเคราะห์และการลดไฟฟ้าสถิตยังช่วยป้องกันปุยผ้า (lint) ไม่ให้ติดเสื้อผ้าด้วย
              3. การทำให้กลิ่นของผ้าดีขึ้น  น้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ให้ความสดชื่นกับผ้าด้วยน้ำหอมชนิดต่างๆ ที่ใส่ในกระบวนการผลิต  โดยทั่วไปน้ำหอมที่ใช้จะให้กลิ่นหอมสดชื่นกับผ้าเปียกมากกว่ากับผ้าแห้ง  แต่น้ำยาปรับผ้านุ่มบางยี่ห้อ  ใช้น้ำหอมคุณภาพดีซึ่งอาจติดผ้าได้เป็นเวลาหลายวัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกลิ่นของผ้าเปียกน้อยกว่ากลิ่นของผ้าแห้ง  เพราะกลิ่นของผ้าแห้งให้ความรู้สึกว่าเสื้อผ้าสะอาดหมดจดและผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจกลิ่นของผ้าเปียก  แต่น้ำหอมที่ให้กลิ่นของผ้าเปียกดีกว่ากลิ่นของผ้าแห้งจะมีราคาถูกกว่ากันมาก
              4. การรักษาลักษณะภายนอกและสีของเสื้อผ้า โดยปกติการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มทำให้สีของผ้าดีขึ้นเพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ติดผ้าทำให้เส้นใยและเส้นด้ายมีความลื่นจึงลดแรงเสียดสีของผ้า ช่วยรักษาสภาพของผิวผ้าและมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผ้าใช้ได้นานขึ้น ความหยาบของผ้ามีสาเหตุมาจากผิวที่ไม่เรียบ (surface disruptions) เช่น เป็นขุย (fuzziness) หรือเป็นปุ่มปมทำให้ผ้าดูซีดและเก่าง่าย
              5. การลดรอยยับย่น (wrinkle reduction)  เนื่องจากสารออกฤทธิ์ในน้ำยาปรับผ้านุ่มมีโมเลกุลที่มีประจุบวกเกาะติดกับเส้นใยทุก ๆ เส้นที่ประกอบกันเป็นเส้นด้ายที่นำมาถักทอให้เป็นเสื้อผ้า ทำให้เสื้อผ้าเหมือนมีน้ำมันเคลือบไว้  สายโซ่ไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) นี้ทำให้ผ้าลื่น เส้นใยทุกเส้นสามารถเลื่อนไปมาระหว่างเส้นด้ายและเส้นด้ายแต่ละเส้นก็สามารถเคลื่อนตัวไปมาได้โดยง่าย จึงช่วยลดแรงเสียดทานในระหว่างเส้นใย (fiber-to fiber) ภายในผืนผ้า  การหล่อลื่นและลักษณะที่เป็นน้ำมันนี้ช่วยลดรอยยับย่นของผ้าทำให้รอยยับย่นของผ้าน้อยลงและช่วยให้เสื้อผ้ารีดง่ายขึ้น
              6. การเพิ่มความสามารถในการติดไฟ (flammability) ความสามารถในการติดไฟเป็นเรื่องของความปลอดภัยและการปกป้องเสื้อผ้า  หมายถึง ความง่ายในการติดไฟและความทนต่อการเผาไหม้ภายหลังการติดไฟ  ยกเว้นใยแก้ว (glass fibers) เส้นใยของสิ่งทอเกือบทั้งหมดมีความสามารถในการติดไฟแตกต่างกัน  ผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้า ฟูก ที่นอน หมอนมุ้งหรือวัสดุที่ใช้ในการหุ้มเบาะและบุนวม  โดยธรรมชาติจะไหม้ได้ง่าย  เสื้อผ้าบางอย่างที่ไหม้ไฟง่ายอาจเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของร่างกายหรือรวมทั้งการสูญเสียทรัพย์สิน น้ำยาปรับผ้านุ่มมีสารหล่อลื่นที่ทำมาจากไขวัว  (tallow)  จึงทำให้คราบของน้ำยาปรับผ้านุ่มบนเสื้อผ้าอาจมีผลต่อความสามารถในการติดไฟของเสื้อผ้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ส่วมใส่เสื้อผ้า  ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับชุดนอนเด็กหรือสิ่งทออื่นๆ ที่ฉลากระบุว่าต่อต้านไฟเพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มอาจไปลดคุณสมบัติในการต่อต้านไฟของผ้าเหล่านั้น
               7. ผลที่มีต่อการดูดซับ (Effect on absorbency)  และความสบายตัวเมื่อรู้สึกร้อน (thermal comfort) ความผ่อนคลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกค้าใช้พิจารณาในการเลือกซื้อเสื้อผ้า  ความรู้สึกสบายระหว่างส่วมใส่เสื้อผ้าของผู้สวมใส่จะให้ความพอใจทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความสมดุลของผู้ส่วมใส่เสื้อผ้ากับสิ่งแวดล้อม ความสบายตัวเมื่อรู้สึกร้อน หมายถึงความรู้สึกร้อน เย็น แห้งหรือเปียกของเสื้อผ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อม เช่น ความร้อน ความชื้นและความเร็วของลมที่พัด (air velocity)  คุณสมบัติหลายอย่างของวัตถุทางด้านสิ่งทอเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสบายตัวเมื่อรู้สึกร้อนของผู้สวมใส่ 
              เสื้อผ้าที่ใส่สบายจะสามารถดูดซับเหงื่อที่ชื้นจากผิวหนัง (water absorbency) ได้ดี โดยมีปัจจัย 3 อย่างมาเกี่ยวข้อง เช่น (1) การส่งผ่านไอน้ำ(water/moisture vapor transmission) (2) การส่งผ่านอากาศ (air permeability) และ (3) การส่งผ่านความร้อน (heat  transfer)  เมื่อเสื้อผ้าดูดซับเหงื่อจากผิวหนัง ความร้อนจะถูกปลดปล่อย  ดังนั้นความสามารถในการดูดซับเหงื่อของผ้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรู้สึกสบายกายตัวเมื่ออากาศร้อน จากงานวิจัยพบว่า น้ำยาปรับผ้านุ่มจะลดความสามารถในการดูดซับน้ำ เพราะการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มซ้ำหลายครั้ง จะทิ้งคราบของน้ำยาปรับผ้านุ่มไว้บนเนื้อผ้า ทำให้ขัดขวางการไหลผ่านของอากาศ  การส่งผ่านไอน้ำของผ้า และการส่งผ่านความร้อน   ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
                    A. การส่งผ่านของน้ำ/ไอน้ำ (water/moisture vapor transmission)  เป็นอัตราความเร็วที่น้ำ/ไอน้ำแพร่ผ่านบนเนื้อผ้า  โดย 2 ปัจจัยแรกที่มีผลต่อการส่งผ่านของไอน้ำ คือ ส่วนประกอบของใยผ้าและการจัดเรียงตัวทางเรขาคณิตของ น้ำสามารถส่งผ่านจากผิวไปยังเสื้อผ้าไปและสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ (บางครั้งหมายถึง ความสามารถในการหายใจของผ้า) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสบายตัวของผู้สวมใส่ (human comfort)  ร่างกายคนสร้างน้ำและขับออกทางเหงื่อซึ่งมีทั้งการขับเหงื่อที่รู้สึกตัว (sensible evaporation) และการขับเหงื่อที่ไม่รู้ตัว (insensible evaporation)  การขับเหงื่อที่รู้สึกตัว (sensible evaporation) เป็นการขับของเหลวภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนและเมื่อต้องออกแรงมากๆ  การขับเหงื่อที่ไม่รู้สึกตัวจะระเหยภายในชั้นผิวหนังในรูปของการส่งผ่านน้ำ/ไอน้ำ
                    การขับเหงื่อจำนวนมากควรจะมีการปลดปล่อยโดยให้เหงื่อซึมผ่านเสื้อผ้าเพื่อรักษาสมดุลของความร้อนในร่างกายทางผิวหนัง  ผ้าที่ดูดความชื้น (hygroscopic fabrics) มีความสามารถในการดูดไอน้ำเมื่อสภาพอากาศชื้นและสามารถปลดปล่อยไอน้ำเมื่อสภาพอากาศแห้ง  การส่งผ่านน้ำ/ไอน้ำโดยปกติจะเริ่มจากสภาพอากาศที่เปียกกไปยังสภาพอากาศที่แห้งจนกระทั่งเข้าสู่สมดุล  เสื้อผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจึงต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีการส่งผ่านน้ำ/ไอน้ำสูง  ความสามารถของผ้าที่ซับไอน้ำหรือเพิ่มการระเหยของน้ำจะช่วยให้สบายกายตัวเมื่อรู้สึกร้อนได้ ตัวอย่างเช่น ชุดกีฬา (sportswear) เหงื่อที่ออกเป็นปัจจัยที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย (body-temperature regulation) ถ้าการขับเหงื่อที่ไม่รู้ตัวเกิดขึ้นได้ทันที  คนที่สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติในการส่งผ่านน้ำ/ไอน้ำต่ำ ที่อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนนั้น  ความร้อนที่ส่งผ่านจากผิวคนออกไปภายนอกจะลดลง จึงทำให้คนรู้สึกไม่สบายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ใส่ในหน้าร้อน (summer clothes) อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าบางอย่าง เครื่องกีดขวางไอน้ำเป็นคุณสมบัติที่ต้องการเพื่อให้ได้คุณภาพที่เหมาะกับการใช้งาน ในกรณีที่ผ้ามีคุณสมบัติในการส่งผ่านน้ำ/ไอน้ำ ต่ำเป็นที่ต้องการ เช่น ผ้าที่ใช้ปกป้องสารเคมี  เสื้อกันฝน ผ้าอ้อม เต็นท์ ผ้าใบกันน้ำ (tarpaulins) 
                    B. ความสามารถในการซึมผ่านของอากาศ  (air permeability)  เป็นความสามารถที่อากาศไหลผ่านเนื้อผ้าได้  มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อความสามารถในการซึมผ่านของอากาศ เช่น ปัจจัยที่เคลือบผ้า (fabric cover factor) ปริมาณของสารตกแต่งผ้า(finish) และสารเคลือบผ้า  เสื้อผ้าที่ใส่ในหน้าร้อนและชุดกีฬา ต้องมีคุณสมบัติที่ให้อากาศซึมผ่านได้ดี  อย่างไรก็ตาม  เสื้อผ้าบางอย่าง เช่น เสื้อที่ใส่ภายนอก (outerwear) เต็นท์ถุงนอน  ผ้าห่ม  และเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ป้องกันต่างๆ ต้องมีการซึมผ่านของอากาศที่น้อย
                    C. การส่งผ่านความร้อน  (heat transfer)  เกี่ยวข้องกับการส่งผ่านพลังงานความร้อน (heat energy) จากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าไปยังสภาพอากาศที่เย็นกว่า  ถ้าอุณหภูมิของสภาพอากาศต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกาย  ความร้อนจะส่งผ่านจากร่างกายไปยังสภาพอุณหภูมิที่อยู่รอบๆ จึงทำให้คนรู้สึกเย็น ในทางกลับกันภายใต้สภาพอุณหภูมิที่ร้อนกว่า  ถ้าอุณหภูมิห้อง (ambient temperature) สูงกว่าอุณหภูมิของร่างกาย  ความร้อนจะไหลจากสิ่งแวดล้อมไปยังร่างกายทำให้รู้สึกอุ่นขึ้น ทั้งสองกรณีเสื้อผ้าสามารถให้ความรู้สึกที่ต่อต้านการไหลของความร้อนเป็นเสมือนฉนวนระหว่างสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นความร้อนส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ใกล้กับร่างกายและความร้อนส่วนน้อยจะไหลผ่านเสื้อผ้าออกไป ปริมาณอากาศที่ถูกเก็บไว้ในซึ่งโครงสร้างของเสื้อผ้าเป็นตัวตัดสินความเป็นฉนวนความร้อน (thermal insulation) ของผ้า