ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

บทสรุป

              จากการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม การผลิตอาหารจึงต้องเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็นอย่างน้อยเพื่อความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชากรโลก เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมพืชจึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงได้เร่งพัฒนาการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม  เนื่องจากพืชจีเอ็มให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค แมลง ไวรัส ยากำจัดวัชพืช และทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้ลักษณะคุณภาพตามต้องการ เช่น รสชาติ  คุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตาม อาหารที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมนั้นมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ที่ต่อต้าน ในขณะที่พืชอาหารจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคตและมีวิธีการดัดแปรเพิ่มขึ้น การทดสอบและการประเมินความปลอดภัยจึงต้องมีการปรับปรุงตามไปด้วย อาหารจีเอ็มในท้องตลาดไม่ควรมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบและประเมินความปลอดภัยอย่างถูกต้องและเหมาะสมก่อนที่จะวางจำหน่าย ในบางประเทศกำหนดให้มีการติดฉลากอาหารที่มาจากพืชและสัตว์จีเอ็ม  แต่ละประเทศจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีกฎระเบียบบังคับสำหรับพืชและสัตว์ที่มาจากการดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์จีเอ็มว่าจะอนุญาตให้มีการนำเข้า และวางจำหน่ายหรือไม่