ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

การยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารและพืชดัดแปรพันธุกรรม

              ประเทศต่างๆ ที่ยอมรับเทคโนโลยีนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความระมัดระวังเรื่องนโยบาย ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ความสามารถที่จะประเมินความเสี่ยง  การออกกฎหมายควบคุม ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้  ผลต่อการส่งสินค้าออก  พื้นที่บนโลกที่ปลูกพืชจีเอ็มเพิ่มขึ้น 47 เท่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และในปีค.ศ. 2004  มีพื้นที่ปลูก 81 ล้านเฮกแตร์โดยเกษตรกร 8.25 ล้านใน 17 ประเทศ (Zarrilli, S., 2005) พืชจีเอ็มที่ปลูกมากที่สุดคือ ถั่วเหลืองทนยาฆ่าแมลง รองลงมาคือ  ข้าวโพดบีที ฝ้ายบีที ที่ต้านทานแมลงและคาโนลาทนต่อยาฆ่าแมลง แปดประเทศที่เป็นผู้นำการปลูกพืชจีเอ็มคือ สหรัฐอเมริกา (59%) อาร์เจนตินา (20%) แคนนาดาและบราซิล ( ประเทศ ละ 6%) จีน (5%) ปารากวัย (2%) อินเดีย (1%) และแอฟริกาใต้ (1%) นอกจากนี้ยังมีปลูกในประเทศอุรุกวัย  ออสเตรเลีย  โรมาเนีย  เม็กซิโก  สเปน  ฟิลิปปินส์  ฮอนดูรัส โคลัมเบียและเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 2004  พืชจีเอ็มที่ปลูกมาก ได้แก่ ถั่วเหลือง (56%) ฝ้าย ( 28%) คาโนลา (19%) และข้าวโพด (14%) และสินค้าพืชจีเอ็มทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2004 เช่นกัน

              การนำพืชและอาหารจีเอ็มเข้ามาในระบบการผลิตอาหารทำให้เกิดคำถามตามมามากมายโดยเฉพาะด้านลบ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังผลที่มีต่อสุขภาพ ความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม สิทธิบัตร ฉลาก ทางเลือกของผู้บริโภคและด้านจริยธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้พืชมักจะไม่ได้รับความสนใจด้านจริยธรรม จนกระทั่งมีอาหารพืชจีเอ็มเพราะสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นไปตามธรรมชาติโดยเฉพาะการถ่ายโอนยีนของสัตว์ไปยังพืช จึงเป็นสิ่งที่หยิบยกขึ้นมาในหมู่พวกมังสวิรัติและศาสนา  การทดลองอาหารจีเอ็มกับสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ของคนจำนวนมาก   เทคนิคพันธุวิศวกรรมที่ใส่ยีนเข้าไปในพืชหรือสัตว์ก็ยังไม่ถูกต้องแน่นอน ลำดับดีเอ็นเออาจใส่ไปผิดที่ หรือผิดลำดับหรืออาจไปรบกวนลำดับดีเอ็นเอที่สำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตนั้นซึ่งอาจทำให้ได้สิ่งที่ไม่ตั้งใจตามมา ตัวอย่าง เช่น มะละกอจีเอ็มมีความต้านทานต่อโรคจุดวงแหวนที่เกิดจากไวรัส เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ตามมาคือมะละกอจีเอ็มมีความอ่อนแอต่อโรคจุดดำที่เกิดจากเชื้อรา ทั้งนี้ยีนไม่ได้ทำงานตามลำพังแต่ทำในรูปเครือข่ายหน้าที่ของแต่ละยีนขึ้นกับยีนอื่นๆ ในจีโนม  (Asante, DKA., 2008) อาหารจีเอ็มมีความเสี่ยงต่ออาการแพ้เนื่องจากโปรตีนในอาหารที่เกิดจากดีเอ็นเอหรือยีนที่ยังไม่เคยรับประทานมาก่อนหรือทดสอบความปลอดภัย สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ส่วนใหญ่คือ โปรตีน อาหารส่วนใหญ่ที่พบว่ามักจะทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นม ปลา อาหารทะเล ถั่วเหลือง ถั่ว และข้าวสาลี  

              สารต้านปฏิชีวนะได้ถูกใช้เป็นตัวติดกับยีนเพราะสามารถตรวจจับได้ง่ายและรวดเร็วในระดับเซลล์  เพื่อใช้ในการคัดเลือกยีนจึงเรียกว่า  “Antibiotic resistance marker genes”   เป็นข้อยกขึ้นมาพิจารณาว่าพืชถ่ายโอนยีนนี้จะมีส่วนทำให้การรักษาความเจ็บป่วยด้วยยาปฏิชีวนะเสียไปหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า อาสาสมัครที่กินถั่วจีเอ็มจะมีดีเอ็นเอดัดแปรในแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้เล็กปริมาณเล็กน้อย  การกินอาหารจีเอ็มสามารถเปลี่ยนยีนในระบบย่อยอาหารของคนได้และสามารถทำให้คนเสี่ยงต่อโรคที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ
              แม้ว่าพืชจีเอ็มเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ลดการใช้ยากำจัดศัตรูพืช แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพืชจีเอ็มเหล่านี้จะปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม  จะเห็นว่าในระบบนิเวศน์ มีพืชและสัตว์ชนิดใหม่ๆเกิดขึ้น  ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ที่มีอยู่เดิมทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพถูกรบกวน อาจมีการแพร่กระจายยีนของพืชจีเอ็มไปยังพืชพื้นเมืองทำให้พืชพื้นเมืองกลายพันธุ์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว
              การต่อต้านการนำเข้าอาหารจีเอ็มในบางประเทศ นอกจากรัฐบาลตั้งกำแพงกั้นการนำเข้าแล้ว การต่อต้านก็มาจากสมาชิกตัดสินใจไม่นำเข้าอาหารที่เชื่อว่าลูกค้าในตลาดไม่ต้องการ  ตลาดลูกค้าที่ยอมรับอาหารจีเอ็ม ได้แก่  จีนและอินเดีย ความเสี่ยงและประโยชน์ของกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ลูกค้าใช้ตัดสินใจในการยอมรับอาหารจีเอ็ม การลองผิดลองถูกเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้รับ แล้วชั่งน้ำหนักเพื่อตัดสินใจ นอกจากนี้ทัศนะคติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความกลัวอาหารใหม่ๆ  ความเชื่อใจในกฎระเบียบและราคาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเทคโนโลยีดัดแปรพันธุกรรมพืชอาหาร การรายงานของข่าวสารก็มีส่วนทำให้เกิดความกลัวและไม่ไว้ใจในอาหารจีเอ็มและพืชจีเอ็ม เช่น กลัวว่ามีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม การเป็นมะเร็ง และกลัวอาหารสุขภาพที่มาจากพืชจีเอ็ม แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเลือกที่ยอมรับพืชจีเอ็มโดยอยู่บนพื้นฐานของโอกาสความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยยึดถือแนวคิดว่าผลิตภัณฑ์จีเอ็มนั้นมีความปลอดภัยเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ หรือ “ Substantial equivalence” ที่พัฒนาโดยFAO และ WHO ซึ่งปัจจุบันยุโรปประเมินความปลอดภัยด้วยแนวคิดนี้เช่นกัน (Knight, JG., Holdsworth, DK., and Mather, DW., 2008)

              สหภาพยุโรปยอมรับอาหารและพืชจีเอ็มอย่างระมัดระวัง โดยการยอมรับนั้นขึ้นกับคุณภาพความปลอดภัยและความชอบของอาหารนั้น แม้ว่าจะมีการปฏิเสธจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ในการบริโภคสัตว์จีเอ็มที่นำมาผลิตเป็นอาหาร แม้แต่หญ้าหรืออาหารสัตว์ที่เป็นจีเอ็มนำมาเลี้ยงสัตว์ แต่ที่จริงแล้วในสหภาพยุโรปก็มีการใช้อาหารสัตว์จีเอ็มมาเป็นเวลาหลายปี ประเทศสเปนปลูกข้าวโพดจีเอ็มเพื่อเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ปัจจุบันข้าวโพดจีเอ็มปลูกในประเทศฝรั่งเศส เยอรมันนี สาธารณรัฐเชค และโปรตุเกส นอกจากนี้สหภาพยุโรปนำเข้าถั่วเหลืองปีละ 40 ล้านตันเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถั่วเหลืองจีเอ็ม จึงเห็นได้ว่าผู้บริโภคในสหภาพยุโรปบริโภคอาหารจีเอ็มมาเป็นเวลานานแล้ว และมีกฎข้อบังคับให้มีการติดฉลากอาหารคนและสัตว์ว่าเป็นอาหารจีเอ็มแต่ไม่ได้บังคับให้อาหารที่ผลิตจากสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มต้องติดฉลาก (Knight, JG., Holdsworth, DK., and Mather, DW., 2008)

              สำหรับประเทศจีนและอินเดีย  การยอมรับเรื่องอาหารดัดแปรไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้บริโภค แต่นโยบายและทัศนะคติของรัฐบาลมีอิทธิพลอย่างมากต่อเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมพืชอาหาร  ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองประเทศยอมรับพืชและอาหารจีเอ็มได้อย่างรวดเร็ว