ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
ความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี 
              ความปลอดภัยของอาหารฉายรังสีสำหรับผู้บริโภค ยังมีคำถามสงสัยอยู่เนื่องจากรังสีที่เกิดการไอออไนซ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องทำการศึกษาวิจัยทั้งระดับชาติและสากลเพื่อประเมินอันตรายของอาหารฉายรังสี โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA:International Atomic Energy Agency), องค์การอนามัยโลก (WHO: the World Health Organization) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agricultural Organization of the United Nations) ได้มีข้อสรุปยืนยันเป็นเอกฉันท์ว่ากระบวนการอาหารฉายรังสีไม่ทำให้เกิดพิษ มีจุลินทรีย์หรือเป็นอันตรายทางโภชนาการต่างจากการใช้แปรรูปอาหารด้วยวิธีปกติ องค์การเหล่านี้รวมทั้งองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commision) และหน่วยงานดูแลกฎระเบียบต่าง ๆ ให้การรับรองความปลอดภัยอาหารฉายรังสีโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good manufacturing practices) และหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีทางโรงงานฉายรังสี (Good irradiation practices) (Morehouse, KM., and Komolprasert, V., 2007)  นอกจากนั้นองค์กรดังกล่าวได้สรุปผลยืนยันว่า อาหารฉายรังสีในปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางโภชนาการและจุลชีววิทยาและไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัยอีกต่อไป จากข้อสรุปนี้องค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศของ FAO/WHO หรือเรียกว่า “Codex” ได้ประกาศรับรองมาตรฐานอาหารฉายรังสีและวิธีอันพึงปฏิบัติในการฉายรังสีเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการฉายรังสีอาหารที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการกำจัดแบคทีเรียและช่วยยืดอายุ (อรอนงค์ มหัคฆพงศ์, 2551)
              อาหารฉายรังสียังคงมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการอยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม การฉายรังสีในปริมาณต่ำ อาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงบ้าง ส่วนการฉายรังสีในปริมาณสูงเพื่อวัตถุประสงค์ในการยืดอายุการเก็บรักษาหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงใกล้เคียงกับการปรุงอาหารหรือการแช่แข็ง การฉายรังสีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในอาหาร เช่นเดียวกับการปรุงอาหารโดยใช้ความร้อนทำให้เกิดสารเคมีเรียกว่า “Thermolytic products” นักวิทยาศาสตร์ พบว่า การฉายรังสีอาหารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าการใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร สารที่เกิดจากการปรุงอาหารมีปริมาณสูงพอที่ผู้บริโภคจะสัมผัสได้ด้วยการได้กลิ่นหรือชิมรส ส่วนการตรวจสอบสารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีโดยการฉายรังสี เรียกว่า “Radiolytic products” ต้องใช้เครื่องมือที่มีความไวสูงจึงจะตรวจหาได้ (สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย, 2551 ข)
              การตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารฉายรังสีโดยใช้สัตว์ทดลองมีหลายวิธีการ ผู้คัดค้านอาหารฉายรังสีจะกล่าวหาว่า การรับประทานอาหารฉายรังสีทำให้ลักษณะโครโมโซมผิดปกติ แต่ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันความปกติของโครโมโซมทั้งในสัตว์ทดลองและในผู้อาสาสมัคร ฝ่ายต่อต้านอาหารฉายรังสีกล่าวอ้างถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสัตว์ที่กินอาหารฉายรังสี ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ การตายก่อนวัย ความผิดปกติทางการถ่ายทอดพันธุกรรม ตับถูกทำลายและเป็นโรคมะเร็ง ระดับวิตามินที่ลดต่ำลง ส่วนประกอบบางชนิดถูกสร้างขึ้นใหม่ เช่น 2-dodecylcylodutanone (2-DCB) และ 2-alkylcyclobutanones ซึ่งเกิดขึ้นในอาหารประเภทไขมัน ปัจจัยที่ทำให้ระดับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารฉายรังสีเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ชนิดของอาหาร ปริมาณรังสีที่ฉาย หีบห่อบรรจุและสภาวะของการแปรรูปอาหาร การสูญเสียทางโภชนาการลดลงได้โดยการกำจัดออกซิเจนออกจากบรรจุภัณฑ์ที่จะนำเข้าฉายรังสีปริมาณ 1 กิโลเกรย์ อาหารประเภทไขมันมักส่งกลิ่นเหม็นหืน อาหารชนิดโปรตีนสูงมีผลให้รสชาติและกลิ่นเปลี่ยนเช่นกัน การฉายรังสีอาหารแช่แข็งและลดปริมาณรังสีลงช่วยให้สิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นลดลงได้ การลดลงของปริมาณคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีนโดยวิธีการฉายรังสีเกิดขึ้นไม่มากนักแต่วิตามินมีการสูญเสียค่อนข้างมาก (Inabo, HI., 2005)

              อาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยไม่มีรังสีตกค้างในอาหาร เนื่องจากแหล่งกำเนิดรังสีที่ใช้สำหรับการฉายรังสีมีข้อจำกัดให้ใช้เพียงพลังงานต่ำ ๆ จึงไม่สามารถชักนำให้อาหารหรือวัสดุหีบห่อเกิดสารรังสีได้ และองค์การอาหารและยาได้สรุปว่าการฉายรังสีไม่เป็นสาเหตุให้เกิดสารพิษในอาหารซึ่งพลังงานความร้อนในการปรุงอาหารปกติใช้พลังงานสูงกว่าการฉายรังสี และคณะผู้เชี่ยวชาญในองค์การสากลต่าง ๆ อาทิ องค์การอาหารและเกษตร (Joint Food and Agriculture Organization) ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กลุ่มที่ปรึกษาสากลด้านอาหารฉายรังสี (International Consultative Group on Food Irradiation)  และองค์การอาหารและยา(Food and Drug administration) สรุปว่าการฉายรังสีอาหารภายใต้สภาวะควบคุมมีความปลอดภัย (Shea, KM., 2000)