ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

บทสรุป

              ในน้ำยางธรรมชาติ มีโปรตีนอยู่มากกว่า 250 ชนิด และมีปริมาณ 1-1.8% ของส่วนประกอบของน้ำยางทั้งหมด ซึ่งพบว่ามีโปรตีน 30-60  ชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้  ปัจจุบันปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติมีมากขึ้น เช่น ถุงมือยาง และเครื่องมือทางเภสัชกรรม ส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดอาการแพ้ เนื่องจากโปรตีนในน้ำยางเกิดการรวมตัวกับสารเคมีหรือผงแป้งที่ตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์หลังการผลิตซึมสู่ผิวหนัง โดยอาการที่แพ้จะมีลักษณะเป็นผื่นคันและมีการอักเสบของผิวหนัง  อาการแพ้โปรตีนในน้ำยางธรรมชาติแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ 1. Irritant contact dermatitis (ICD) 2.Allergic contact dermatitis (ACD) หรือ Type IV cell- mediated hypersensitivity reaction 3. Type I IgE-mediated hypersensitivity reaction ซึ่งความรุนแรงของอาการแพ้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ช่วงเวลาที่ได้สัมผัส สภาวะของผิวหนังขณะสัมผัส ปริมาณสารเคมี ผงแป้งและโปรตีนที่ตกค้างในผลิตภัณฑ์ยาง 

              โปรตีนในน้ำยางธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้ในสภาวะด่าง  การกำจัดหรือการลดโปรตีนให้มีระดับต่ำคือ น้อยกว่า 2 µg/g ของน้ำยาง จะทำให้ผู้ที่ใช้งานไม่เกิดอาการแพ้ สามารถทำโดยใช้วิธีกล เช่น การเหวี่ยงหมุนและการล้าง  วิธีเคมี การใช้เอนไซม์ การใช้สารลดแรงตึงผิวและการใช้ fumed silica  ซึ่งแต่ละวิธีสามารถทำร่วมกันได้เพื่อให้การสกัดโปรตีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นน้ำยางที่สกัดโปรตีนออกจะถูกนำไปทดสอบคุณสมบัติของน้ำยางธรรมชาติโปรตีนต่ำและแผ่นฟิล์มยางธรรมชาติโปรตีนต่ำตามมาตรฐาน ASTM 1076-97 พบว่า น้ำยางธรรมชาติโปรตีนต่ำมีปริมาณเนื้อยางแห้งและของแข็งทั้งหมด ความหนืด ความตึงผิวและน้ำหนักโมเลกุลต่ำกว่าน้ำยางธรรมชาติปกติ แต่มีความเสถียรเชิงกลสูงกว่าประมาณ 3 เท่า  แผ่นฟิล์มยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ พบว่า มีคุณสมบัติมอดูลัสและความทนทานต่อแรงดึงจนขาดน้อยกว่าและความทนทานต่อการยืดจนขาดสูงกว่าแผ่นฟิล์มยางธรรมชาติปกติ