ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
การออกแบบผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) 
              ปัจจุบันนี้รูปแบบการตลาดได้เปลี่ยนไปโดยตลาดของการบริการ (function market) ได้เข้ามาแทนตลาดของการผลิต (manufacturing market) ทำให้เกิดการค้าทางฐานความรู้ของผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ (intelligence products) การออกแบบเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ (eco-design) เป็นกระบวนการที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (product life cycle) ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิต ช่วงการออกแบบ ช่วงการผลิต ช่วงการนำไปใช้ และช่วงการกำจัดหลังการใช้งานหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) (Michelini, RC., and Razzoli, RP., 2004)
              หลักการพื้นฐานของการทำ eco-design คือ การประยุกต์หลักการของ 4R ในทุกช่วงของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน (reduce) การใช้ซ้ำ (reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการซ่อมบำรุง (repair) ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้การนำ co-design มาประยุกต์ใช้จะต้องคำนึงถึงกลไก 7 ด้านหลักคือ
                    (1) ลดการใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (reduction of low impact material) 
                    (2) ลดปริมาณและชนิดของวัสดุที่ใช้ (reduction of material used) 
                    (3) ปรับปรุงกระบวนการผลิต (optimization of production techniques)
                    (4) ปรับปรุงระบบการขนส่งผลิตภัณฑ์ (optimization of distribution system)
                    (5) ปรับปรุงขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์ (optimization of impact during use)
                    (6) ปรับปรุงอายุผลิตภัณฑ์ (optimization of initial lifetime)
                    (7) ปรับปรุงขั้นตอนการทิ้งและทำลายผลิตภัณฑ์ (optimization of end-of-life)
              นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำในการออกแบบเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ (eco-design hints) (Michelini, RC., and Razzoli, RP., 2004) ดังนี้ คือ
                    (1) ใช้ประโยชน์จากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ (recycled) ใช้พลังงานให้น้อยลง ใช้วัสดุหรือวัตถุดิบที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ (renewable)
                    (2) เลือกสมรรถนะการผลิตที่สูง (high throughput) ประหยัดวัสดุและนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ได้
                    (3) ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ (reuse packaging) ปรับปรุงระบบการขนส่ง การส่งกำลังบำรุง (logistics) อุปกรณ์แวดล้อมที่ปรับตัวเองได้ (self-turned settings)
                    (4) ออกแบบเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด เช่น อาคารที่บำรุงรักษาง่าย สิ่งก่อสร้าง
                    (5) ออกแบบเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนาน การบำรุงรักษาน้อย ใช้พลังงานน้อย
                    (6) ออกแบบเพื่อรักษาคุณภาพ ถอดออกเป็นชิ้นส่วนได้ง่าย สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำได้
              1. การออกแบบอาคารสีเขียว (eco-building design) (Vakili-Ardebili, A., and Boussabaine, AH.,  2006) สถาปัตยกรรมเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนปัจจัยนำเข้า (in-puts) มาเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างหรือผลิตภัณฑ์ (out-puts) กระบวนการก่อสร้างอาคารจะเกี่ยวข้องกับเกณฑ์ 4 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม และการออกแบบที่เกี่ยวข้อง ในกระบวนการสถาปัตยกรรมนี้ประกอบขึ้นด้วย เทคโนโลยีและกรอบความคิดเป็นสองแกนของปัจจัยที่ทำให้เกิดสมดุลของแนวคิดเพื่อความต้องการการออกแบบที่เกิดดุลยภาพ
              2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ยาชีวะเภสัช (biomedical product design) (Messelbeck, J., and Sutherland, L., 2000) ความต้องการที่จะปรับปรุงผลของสภาพแวดล้อมของระบบจัดส่งผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพ ได้รับความสนใจจากทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ การประสานงานร่วมมือของหน่วยงานที่รับผิดชอบทำให้สามารถลดปริมาณขยะ ของแข็ง และปริมาณปรอทจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาล เครือข่ายลงได้มาก เพื่อสนับสนุนความร่วมมือนี้ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาเหล่านี้ ถูกเรียกร้องให้จำหน่ายยาโดยคำนึงถึงภาวะสภาพแวดล้อมด้วย บริษัทผู้ผลิตยาจำเป็นต้องพิจารณาทางด้านสภาพแวดล้อมในกระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงขบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ด้วย โรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลสามารถประหยัดเงินจากการลดปริมาณขยะและทำโครงการด้านสภาพแวดล้อมเพื่อลดและหรือจำกัดการใช้สารปรอท การใช้วิธีนำกลับมาใช้ใหม่ การแยกขยะติดเชื้อออกต่างหาก เพื่อลดปริมาณขยะโดยรวม
              3. การออกแบบผลิตภัณฑ์เหล็กสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัย (Steel product design for home electric) (Shigeki, Y., et al., 2004) เหล็กและเหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านและในระบบอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะให้สภาพแวดล้อมเป็นมิตรต่อชุมชน ได้มีการเสนอให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ให้สภาพแวดล้อมปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่าง เช่น การผลิตเหล็กกล้าปราศจากสารอันตราย เช่น ตะกั่ว โครเมียม และ เหล็กกล้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน สหภาพยุโรปออกกฎเกี่ยวกับขยะไฟฟ้าและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ WEEE (waste electric and electronic equipment) ทำให้ผู้ผลิตทั้งหลายต้องดำเนินการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการถอดชิ้นส่วน (disassembly) สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และออกข้อจำกัดในการใช้วัสดุอันตรายในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามการใช้วัสดุซึ่งประกอบด้วยตะกั่ว โครเมียม แคดเมียม  
              4. อาหารสีเขียว (Green foods) (Paull, J., 2008) ในประเทศจีนมีอาหารที่ได้รับการประกันคุณภาพอยู่  3 ประเภท ซึ่งเรียกว่า eco-food หรือ  eco-labelled food ได้แก่ green food (อาหารสีเขียว), hazard-free food (อาหารปราศจากอันตราย) และ organic food (อาหารอินทรีย์) โดยอาหารสีเขียวเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและมีขายอยู่ทั่วไปในตลาด  และการที่จะได้รับใบรับรองอาหารสีเขียวจะต้องกระทำดังนี้
                    (1) ท้องที่จะต้องเพาะปลูกในสภาพอากาศได้มาตรฐานสูงสุดของประเทศจีน
                    (2) จะต้องควบคุมโลหะหนักที่ตกค้างในดินและน้ำชลประทาน (โดยการตรวจสอบสารปรอท แคดเมียม สารหนู ตะกั่ว โครเมียม และอื่น ๆ)
                    (3) น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานน้ำดื่มของประเทศ
                    (4) การใช้สารเคมีต้องอยู่ในการควบคุมดูแลสารกำจัดโรคแมลงที่เป็นพิษรุนแรง 
              5. การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน (Household product design)  (Glisovic, S., Miloradov, MV., and Jankovic, Z., 2005) โลกกำลังประสบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของกระแสขยะ (waste stream) จากเครื่องใช้ภายในบ้าน ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่บริโภคกันมากมายอันเนื่องมาจากมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้อายุใช้งานน้อยลงเพราะความล้าสมัยลงกลยุทธ์ในการจัดการผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุใช้งานซึ่งจะต้องให้เกิดสมดุลทั้งทางบวกและทางลบใน 3 ด้าน ดังนี้คือ
                    (1) ลดการฝังกลบขยะ
                    (2) ทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สูงสุด 
                    (3) ควบคุมวัสดุที่เป็นพิษ
              6. การออกแบบสายไฟและสายเคเบิลสีเขียว (Wire and cable eco-green design) (Nakayama, A.,   et al, 1999) ผลิตภัณฑ์สายไฟและสายเคเบิลสีเขียว (eco-green) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวัสดุที่สะอาดไม่มีส่วนประกอบของสารฮาโลเจนและโลหะหนัก แนวคิดของการผลิตสายไฟและสายเคเบิลสีเขียวประกอบด้วย
                    (1) ปราศจากสารฮาโลเจน (halogen free) ได้แก่ คลอรีน (Cl) โบรมีน (Br) ฟลูออรีน (F) และไอโอดีน (I)  การปลอดจากสารเหล่านี้ก่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อวัสดุมีการติดไฟ (safety in fire) โดยไม่ทำให้เกิดแก๊สพิษ แก๊สที่เกิดการกัดกร่อน หรือ เป็นสนิมและเกิดควันน้อย
                    (2) ปราศจากโลหะหนัก (heavy metal free) ซึ่งได้แก่ ตะกั่ว (Pb) พลวง หรือ แอนติโมนี (Sb) โครเมียม (Cr) แคดเมียม (Cd) ซึ่งทำให้กระบวนการกำจัดทำลาย (safety at wasting treatment) ปลอดภัย เนื่องจากไม่เกิดสารไดออกซิน (dioxin) และไม่มีการระเหยออกมาของไอสารโลหะหนัก
                    (3) ให้ความชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ (clarification of material)  และการรวบรวมวัสดุ (consolidation of material) ซึ่งทำให้สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้  เพราะว่าง่ายต่อการจำแนกแยกแยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การนำมาใช้ทำเชื้อเพลิง (thermal recycling)  หรือ การแยกส่วนออกเป็นวัสดุ หรือส่วนประกอบอื่นๆ เช่น รวบรวมเปลือกหุ้มและแผ่นฉนวนทำเป็นสารโพลิโอลิฟินส์ (polyolefins) สำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป ซึ่งผลิตภัณฑ์สายไฟและสายเคเบิลสีเขียวประกอบด้วย
                              - สายไฟที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
                              - สายไฟที่ใช้ในรถยนต์
                              - สายเคเบิลที่ใช้ในระบบโทรคมนาคม (LAN cables)
              7. การออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว (Eco design for electric) (Gurauskiene, I.,  and Varzinskas, V., 2006) อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ EEE (electric and electronic equipment) เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิต และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากมาย ตั้งแต่การสกัดและใช้วัตถุดิบ การใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นๆ ในการผลิต การใช้งานผลิตภัณฑ์ จนถึงการหมดอายุใช้งานและกลายเป็นขยะในที่สุด การออกแบบสีเขียว (eco-design) ซึ่งอาจเรียกชื่ออื่นๆ เช่น การออกแบบวงจรผลิตภัณฑ์ (life cycle design) การออกแบบโดยสำนึกถึงสภาพแวดล้อม (environmental-conscious design) เป็นกระบวนการที่เป็นระบบโดยผสมผสานปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมลงในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ แรงผลักดันหลักในการออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ประกอบด้วย
                    (1) ความต้องการควบคุมทางด้านกฎหมายและมาตรฐานการผลิต เช่น คำสั่ง WEEE (Waste electrical and electronic equipment) คำสั่ง RoHS (restric of use of certain hazardous substances in electrical and electronic equipment)   คำสั่ง EuP (estrablishing a framework for the setting of eco-design requirements for energy using products)
                    (2) ความต้องการด้านตลาดและผู้บริโภคสีเขียว (market / green consumer)
                    (3) ความรับผิดชอบขององค์กร (corporate responsibility)
                    (4) ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)