ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
วิธีการป้องกันอันตรายจากแบคทีเรียในอาหาร  (คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2553)
              อาหารที่เราบริโภคนั้น  สามารถแบ่งตามแหล่งที่มาได้ 2 แหล่งใหญ่ๆ  คือ  จากพืชและสัตว์  นอกจากเราจะบริโภคอาหารเหล่านั้นโดยตรงแล้ว  ยังมีการนำอาหารไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เช่น  แป้ง  ผักดอง  น้ำผลไม้  เนื้อเค็ม  ฯลฯ  แต่ยังประสบปัญหา  คือ  หลังการเก็บเกี่ยว  อาหารจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการและทางกายภาพ  จนในที่สุดอาหารเกิดการเน่าเสีย  จึงมีวิธีการป้องกันโดยการหาวิธีถนอมอาหาร  โดยใช้กรรมวิธีต่างๆเพื่อทำให้อาหารมีสภาพและคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับของเดิมที่สุด  ซึ่งมีดังต่อไปนี้  
              1. การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อน  (Preservation by use of  high temperature)
                  การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนเป็นวิธีการหนึ่ง  ที่สามารถทำลายจุลินทรีย์ในอาหารได้ดี  สาเหตุสำคัญที่ทำให้จุลินทรีย์ถูกทำลายคือ  ความร้อนที่อุณหภูมิสูง  ทำให้โปรตีนในเซลล์ เกิดการตกตะกอน  เอนไซม์ต่าง ๆ เสียคุณสมบัติ  จุลินทรีย์จึงดำรงชีวิตต่อไปไม่ได้   ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
                    (1) การพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization)  เป็นวิธีที่ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 ºC โดยจะทำลายเฉพาะจุลินทรีย์ที่ไม่ทนความร้อนและก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์  การทำพาสเจอร์ไรส์มี 2 วิธี  คือ
                         (1.1) การใช้ความร้อนต่ำและเวลานาน  คือ  ความร้อนที่อุณหภูมิ 62.9 ºC  เวลา 30 นาทีต่อเนื่องกัน
 
                         (1.2) การใช้ความร้อนสูงและเวลาสั้น  คือ  ความร้อนที่อุณหภูมิ 71.9 ºC   เวลา 15 วินาทีต่อเนื่องกัน
                    อาหารที่ได้รับความร้อนโดยวิธีการนี้  จะต้องทำให้เย็นลงทันทีจนเหลืออุณหภูมิ 10 ºC เพื่อกำจัดความร้อนส่วนเกินที่จะทำลายคุณภาพของอาหารนั้น (นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์, 2545)
                    (2) การสเตอร์ริไลส์ (Sterilization)  เป็นกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์  โดยใช้ความร้อนเปียก (wet heat) ที่อุณหภูมิสูงกว่าระดับน้ำเดือดโดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ (นวลจิตต์ เชาวกีรติพงศ์, 2545) ที่อุณหภูมิ 121 ºC  เป็นเวลา 15 นาทีหรือเทียบเท่า  โดยวิธีการนี้จะทำลายจุลินทรีย์ที่ทนความร้อนได้
                    (3) การลวก  ต้มและนึ่ง  (นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์, 2545)
                          การลวก - เป็นการใช้ไอความร้อนจากน้ำเดือดจัดผ่านลงไปในอาหารในเวลาอันสั้นประมาณ 5 นาที
                          การต้ม - หลักการปฏิบัติในการต้ม คือ ใช้น้ำน้อย  ใช้ไฟอ่อน ปิดฝาภาชนะและใช้เวลาสั้นในการต้ม
                          การนึ่ง - อาหารจะไม่สัมผัสกับน้ำโดยตรง  แต่จะได้รับความร้อนจากไอน้ำเดือดที่ระเหยขึ้นมาในภาชนะปิด  ความร้อนจะแทรกเข้าไปในส่วนต่างๆของอาหารและไม่ทำให้อาหารแห้ง 
              2. การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น (Preservation by use of  low temperature)
                  วิธีการถนอมอาหารด้วยความเย็นมีความแตกต่างกันไปตามวิธีการและอุณหภูมิที่ใช้  แบ่งออกเป็นแบบใหญ่ ๆ ได้ 2 แบบ  ได้แก่
                    (1) Chilling storage  การแช่เย็นที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งประมาณ  5-10 ºC  เป็นเพียงการรักษาอาหารไว้ชั่วระยะหนึ่ง  เพราะช่วยชะลอให้จุลินทรีย์เจริญได้ช้าลงเท่านั้น 
                    (2) Cold  storage   การแช่เย็นแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งประมาณต่ำกว่า -10 ºC  เพื่อให้น้ำในอาหารกลายเป็นน้ำแข็ง  จุลินทรีย์จะหยุดการเจริญโดยสิ้นเชิง  ทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารได้นานเป็นปี  (นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์, 2545)
              3. การถนอมอาหารโดยการลดความชื้น
                  การลดความชื้นเป็นการลดปริมาณน้ำหรือความชื้นในสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์  ซึ่งมีหลายวิธี  ดังนี้
                    (1) การคั่วและการทอด  ทั้ง 2 วิธีแตกต่างกันที่การคั่วจะไม่ใส่น้ำมัน  แต่การทอดจะใส่น้ำมันลงไปให้ท่วมอาหาร
                    (2) การปิ้งและการย่าง  มักใช้กับอาหารที่มีชิ้นขนาดใหญ่ให้สัมผัสกับความร้อนจากไฟโดยตรง
                    (3) การกวน  การแช่อิ่มและการทำเค็ม  ในการทำเค็มจะใส่เกลือลงไปในอาหารเพื่อดึงน้ำออกจากอาหาร  ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้  ซึ่งมีลักษณะเดียวกับการใช้น้ำตาลในการแช่อิ่มและการกวนก็มีหน้าที่เหมือนกับเกลือในการทำเค็ม
              4. การถนอมอาหารโดยวิธีการฉายรังสี (Preservation by radiation) 
                  การถนอมอาหารด้วยวิธีนี้  เป็นการผ่านรังสีที่ได้จากากรสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีเข้าไปในอาหาร  เพื่อชะลอการสุกของผลไม้  ระงับการงอกของพืช  ทำลายจุลินทรีย์  แมลงและเอนไซม์  เป็นผลให้สามารถถนอมอาหารนั้นไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย
                  กลไกการทำงาน  คือ  เมื่อรังสีถูกส่งให้ซึมผ่านเนื้ออาหารแล้วจะทำให้ในอาหารและน้ำที่มีอยู่ภายในเซลล์ของจุลินทรีย์มีสภาพผิดไปจากเดิม  ทำให้จุลินทรีย์ตายได้  (นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์, 2545)
              5. การใช้ความดัน (Preservation by pressure)  
                  ความดันอากาศสูงๆมีผลต่อการเจริญและกระบวนการเมทาบอลิซึมของจุลินทรีย์  และเมื่อเพิ่มความดันให้สูงขึ้นไปอีกก็จะทำลายจุลินทรีย์และหยุดการทำงานของเอนไซม์ได้  ความดันอากาศขนาด  6,000 บรรยากาศ  เป็นเวลา  45 นาที จะทำลายแบคทีเรียได้แต่ไม่มีผลต่อสปอร์ของแบคทีเรีย  ถึงแม้ว่าจะเพิ่มความดันถึง  20,000 บรรยากาศก็ตาม  นอกจากนี้ยังพบว่า ถ้าทำการลดความดันลงอย่างรวดเร็ว  จะเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ (germidical effect) ได้