ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)

              มะเร็งผิวหนังที่พบบ่อย มี 3 ชนิดด้วยกัน คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นพื้นฐานของหนังกำพร้า (basal cell carcinoma) ลักษณะมะเร็งจะเป็นก้อนนูนขึ้นมา พบบ่อยบริเวณใบหน้า มือ ศีรษะ แต่ก็อาจจะพบตามลำตัว และมักจะพบในคนผิวขาว ใช้ระยะเวลานานในการแพร่กระจาย มะเร็งผิวหนังอย่างที่สอง เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า (squamous cell carcinoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบเป็นอันดับ 2 มักจะพบในคนผิวขาว มีลักษณะนูน แดง ผิวหนังแตกเป็นแผล เลือดออกง่าย พบบ่อยบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ขอบใบหู สามารถแพร่กระจายจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้ โตและขยายเป็นวงกว้างได้เร็วและลึกกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดแรก หากพบได้เร็วการรักษาจะหายขาด มะเร็งผิวหนังชนิดที่สาม เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (malignant melanoma) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและมีอัตราการตายสูงมักจะพบมากในคนผิวขาวที่เคยมีผิวไหม้จากแดด มีลักษณะคล้ายไฝ หรือขี้แมลงวัน หรืออาจเป็นจุดดำบนผิวหนัง ไฝบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใต้เล็บ มีโอกาสเป็นมากกว่าที่อื่นๆ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของผิว ไฝ หรือ ขี้แมลงวัน เช่น ตกสะเก็ด ลอก หรือมีอาการปวด มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลเยิ้ม มีตุ่มนูนเกิดขึ้นข้างๆ มีการแพร่กระจายของเม็ดสีรอบๆ นั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเข้าข่ายอันตรายแล้ว (Voss, W. and Burger, C., 2008)

              มะเร็งผิวหนังชนิด nonmelanoma skin cancer (NMSC) เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก เกิดในชั้นผิวหนัง squamous cell carcinoma (SCC) และ basal cell carcinoma (BCC) มะเร็งชนิด BCC พบมากกว่าชนิด SCC แต่มะเร็งผิวหนังชนิด SCC ทำให้ถึงแก่ความตายถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตต่อเนื่องยาวนานและเกิดอาการผื่นแดงเรื้อรังสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดในตำแหน่งบริเวณคอและศีรษะอาจมีผลต่อระบบประสาท การรักษามะเร็งชนิด NMSC ด้วยการผ่าตัดและการให้ยาเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะอัตราการกลับมาเกิดใหม่สูง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การรักษาโดยการผ่าตัดจะทิ้งร่องรอยแผลเป็นถาวรทำให้มีผลทางด้านจิตใจ มะเร็งชนิด NMSC พบได้ตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย รังสีชนิด UVA และ UVB ล้วนมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิด BCC การได้รับรังสีต่อเนื่องยาวนานเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดมะเร็งชนิด SCC (Ramos, J., et al, 2004)