ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

การเลือกและใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้อง 

              ปฏิกิริยารุนแรงจากการใช้ครีมกันแดดมักพบได้เสมอและมีรายงานเกี่ยวกับผลจากการใช้ทาหรือเกิดผื่นแดงจากการใช้ครีมกันแดด การเกิดปฏิกิริยาบวมแดงหลังจากใช้ครีมกันแดดเป็นการระคายเคืองจากฤทธิ์ของสารกันแดด  กรณีที่เกิดอาการแพ้โดยปกติจะมีสัดส่วนน้อยดังเช่นการสาธิตโดยตรวจสอบแบบเป็นจุด (patch testing) การทดสอบโดยใช้แสงเป็นจุด (photopatch testing) หรือการทดสอบโดยสะกิดเพียงตื้น ๆ (scratch testing) มีการศึกษาในห้องทดลองรายงานว่า สารกันแดดมีผลทำให้เกิดสารก่อมะเร็งหลังจากได้รับแสงอัลตราไวโอเลต แต่ยังไม่มีข้อสนับสนุนยืนยันจากผลการทดลองกับสิ่งมีชีวิตแต่พบว่า ครีมกันแดดจะช่วยปกป้องมากกว่าส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งจากการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ครีมกันแดดสามารถลดหรือป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำให้เกิดเนื้อร้าย มีผลการทดลองทางระบาดวิทยาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ครีมกันแดดกับการเกิดมะเร็งผิวหนังและยังพบว่า การใช้ครีมกันแดดกับการเกิดมะเร็งที่เกิดจากไฝ (melanoma) ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่ช่วยป้องกันการเกิดอาการไหม้แดดจึงทำให้สามารถทำงานกลางแจ้งได้ยาวนานขึ้น ซึ่งเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนหากใช้ครีมกันแดดที่มีหน่วยวัดค่า SPF ต่ำหรือใช้ครีมกันแดดที่ไม่เพียงพอสำหรับปกป้องรังสี UVA และมีรายงานว่าการใช้ครีมกันแดดติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลให้ขาดวิตามินดี แต่จากหลักฐานผลการศึกษาในกลุ่มผู้ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำส่วนมากยังมีระดับของวิตามินดีปกติ (Ho, TY., 2001)

              ครีมกันแดดที่พึงประสงค์ควรจะให้การปกป้องที่ดีครอบคลุมทุกช่วงคลื่นของแสงอัลตราไวโอเลต แม้ว่าหลังจากอยู่กลางแดดและยังคงสภาพหลังจากเหงื่อออกหรือการว่ายน้ำ และไม่มีพิษ ตลอดจนไม่เกิดอาการแพ้หรือเกิดผื่น จากเหตุผลเหล่านี้จึงต้องให้คำแนะนำปริมาณความเข้มข้นที่ขีดสูงสุดสำหรับกรองแสงแต่ละชนิด ความเข้มข้นมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวกำหนดระดับการปกป้องของผลิตภัณฑ์กันแดดและเพิ่มการปกป้องให้บรรลุผลสำเร็จได้โดยการเพิ่มความเข้มข้นของสารกรองแสงหรือโดยการนำสารกรองแสงต่างชนิดกันมาผสมในผลิตภัณฑ์เดียวกัน (Ho, TY., 2001)

              การใช้ครีมกันแดดควรใช้เป็นประจำทุกวัน แม้ว่ายังไม่เกิดอาการไหม้แดดแต่แสงอัลตราไวโอเลตเป็นตัวทำลายผิวด้วยการสะสมทีละน้อยตลอดช่วงที่ยังมีชีวิต หมายความว่า ผลการทำลายยังไม่เกิดอาการทันที อาการไหม้แดดยังไม่แสดงผลภายใน 24 ชั่วโมง และบางอาการต้องใช้เวลาเป็นปี ข้อมูลแสดงการทำลายผิวที่เกิดจากแสงแดดประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เสนอข้อมูลของผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงทำให้ผู้ที่มีอายุสูงกว่าไม่ให้ความใส่ใจในการใช้ครีมกันแดด มีผลสำรวจของชาวอเมริกันที่มีอายุ 18 ปีใส่ใจต่อรังสีอัลตราไวโอเลตน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้ครีมกันแดดและสวมหมวกปีกกว้างเพื่อปกป้องรังสีจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำและไม่สายเกินไปสำหรับผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แม้ว่าออกทำงานกลางแจ้งเพียง 20 นาทีก็ควรใช้ครีมกันแดดให้เป็นประจำทุกวัน โดยใช้หลังอาบน้ำหรือก่อนแต่งหน้าทาปาก โดยปกติควรทาครีมกันแดดก่อนออกนอกบ้านเป็นเวลาประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้ครีมกันแดดซึมซาบลงสู่ผิวหนัง และควรทาให้เด็กเพื่อช่วยปกป้องให้แก่ผิวของเด็กซึ่งยังบอบบางและควรระมัดระวังไม่ให้ครีมกันแดดเข้าตาอาจทำให้ระคายเคือง มีข้อแนะนำว่าไม่ควรใช้ครีมกันแดดกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ ถ้าจะต้องนำเด็กออกนอกบ้านควรบังแสงและใช้เสื้อผ้าปกป้องผิวและแนะนำให้สวมหมวก ใส่แว่นกันแดดป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต 99-100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้แสงแดดยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านสายตาของเด็กทารกอย่างมาก (Pollard, JM. and Rice, CA., 2005)

              การเลือกผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่เหมาะสมควรพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) รูปแบบ (form)  ซึ่งมีให้เลือกซื้อมากมาย  เช่น ครีม เจล โลชัน แท่งทา ขี้ผึ้ง ขึ้นอยู่กับความพอใจและความเหมาะสมของผู้บริโภค 2) ค่า SPF โดยครีมกันแดดจะมีระดับของ SPF ต่ำสุดอยู่ที่  2-11 ระดับปานกลาง 12-29 และระดับสูง มากกว่า 30 ขึ้นไป หน่วยวัดค่า SPF เป็นค่าบ่งบอกระยะเวลาที่อยู่กลางแสงแดดได้โดยไม่ทำให้เกิดการไหม้แดด เป็นค่าวัดจากการคำนวณผลเปรียบเทียบการเกิดอาการไหม้แดดหลังจากใช้ครีมกันแดดปกป้องผิวกับการไม่ใช้ครีมป้องกัน ตัวอย่างเช่น ครีมกันแดดหน่วยวัด SPF 2 หมายความว่า ปกติไม่ใช้ครีมกันแดดผิวหนังจะเกิดอาการผื่นแดงในเวลา 10 นาทีในการทำงานกลางแจ้ง แต่ถ้าใช้ครีมกันแดดจะเกิดอาการหลังจากอยู่กลางแจ้งนาน 20 นาที ถ้าครีมกันแดด SPF 15 หมายความว่า สามารถอยู่กลางแจ้งได้นานกว่า 15 เท่าจึงเกิดอาการผื่นแดง แต่ระดับ SPF อาจมีผลลดลงได้จากปัจจัยอื่น เช่น เหงื่อออก ความเปียกชื้น การนวดหรือ เช็ดออก ค่า SPF ระดับที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นปฏิภาคโดยตรงกับความสามารถในการป้องกันแสงแดด เช่น SPF 30 ไม่สามารถป้องกันรังสีได้มากกว่า SPF 15 ได้เป็น 2 เท่า แต่ตามความเป็นจริง ครีมกันแดด SPF 15 สามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 93 เปอร์เซ็นต์ และ SPF 30 ป้องกันได้ 97 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่า 30 จะมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน  3) ค่าปกป้องรังสี UVA (UV-A protection) ครีมกันแดดชนิดนี้มีความสำคัญเนื่องจากสามารถปกป้องรังสี UVB ได้ด้วย เพื่อความมั่นใจจึงควรตรวจสอบสูตรผสมของผลิตภัณฑ์ที่ต้องประกอบด้วย benzophenones, oxybenzone, sullsobenzone, titanium dioxide, zinc oxide, avobenzone (Parsol 1789) 4) การกันน้ำ (water resistance) เพื่อให้ครีมกันแดดไม่ถูกกำจัดออกไปอย่างง่ายดายจากเหงื่อหรือหลังการว่ายน้ำ โดยครีมกันแดดที่สามารถกันน้ำได้นี้จะติดอยู่บนผิวหนังได้นาน ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่แสดงฉลากกันน้ำ (water-resistant) จะยังคงอยู่ได้นานประมาณ 40-80 นาที (Pollard, JM. and Rice, CA., 2005)