ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ประเภทและผลกระทบที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลต (Ho, TY., 2001; Brown, BA., et al., 2005)

              แสงแดดที่ตกมาถึงโลกของเราจะมีความยาวคลื่นของอัลตราไวโอเลต (UVR=Ultraviolet radiation) ตั้งแต่ 290-760 นาโนเมตร (nm) โดยแบ่งความยาวช่วงคลื่นเป็น 4 ช่วงใหญ่ ๆ คือ

              1. ความยาวช่วงคลื่นระหว่าง 100-290 นาโนเมตร ที่เรียกว่า “รังสี UVC” รังสีชนิดนี้เป็นอันตรายอย่างมากต่อนิวเคลียสของเซลล์ และจะถูกกรองโดยโอโซนในบรรยากาศชั้น stratosphere ทำให้ไม่สามารถผ่านมาถึงพื้นโลกได้ พวกเราจึงปลอดภัยจาก UVC ในปัจจุบันชั้นโอโซนลดลงทำให้มีรังสี UVC บางส่วนผ่านลงมายังพื้นโลกได้

              2. ความยาวช่วงคลื่นระหว่าง 290-320 นาโนเมตร ที่เรียกกันว่า “รังสี UVB” รังสีชนิดนี้มีผลทำให้ผิวหมองคล้ำ และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการไหม้แดด (sunburn) เกิดแผลและตุ่มน้ำ โดยรังสี UVB จะผ่านเข้าไปในผิวหนังได้แค่ชั้นหนังกำพร้า และชั้นตื้นๆ ของหนังแท้ หากสะสมในระยะยาวจะทำให้ผิวเหี่ยวย่น ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในคนที่ขาวมากอย่างชาวตะวันตกที่ชอบอาบแดดเป็นเวลานานๆ และมีผลต่อดวงตา รังสีชนิดนี้จะถูกดูดซึมและทำให้เกิดอันตรายต่อกระจกตาและเลนส์แก้วตา นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย รังสี UVB มีพลังงานสูงและมีผลเสียมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรังสี UVA

              3. ความยาวช่วงคลื่นระหว่าง 320-400 นาโนเมตร ที่เรียกว่า “รังสี UVA”  รังสีชนิดนี้มีผลทำให้สีผิวหมองคล้ำ ผิวหนังเหี่ยวย่น และแสบไหม้ รวมถึงการทำให้เกิดอนุมูลอิสระจนเกิดริ้วรอยและการเสื่อมสภาพของผิวจากแสงแดด (photoaging) จนเซลล์ผิวหนังเกิดผิดปกติและเชื่อว่ารังสี UVA เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง รังสี UVA มีพลังงานต่ำกว่ารังสี UVB แต่กลับสามารถผ่านเข้าไปในชั้นลึกของผิวหนังและลูกตาได้มากกว่า โดยในแสงแดดจะมีปริมาณรังสี UVA มากกว่า UVB (UVA 95% และ UVB 5%) รังสี UVA สามารถผ่านทะลุผิวหนังได้ลึกถึงชั้นล่างของหนังแท้ (ลึกกว่า UVB ที่ผ่านทะลุได้เพียงชั้นบนของหนังแท้) และจากการที่มีช่วงคลื่นที่ยาวจึงสามารถผ่านทะลุเมฆหมอกได้

              4. ความยาวช่วงคลื่นระหว่าง 400-760 นาโนเมตร เป็นรังสีที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (visible radiation)