ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

การจำแนกและหน้าที่ของผิวหนัง (Bino, SD., et al., 2006)

              ผิวหนัง เป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกายทำหน้าที่ป้องกันความร้อน แสง ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ และช่วยสร้างวิตามินดี  ผิวหนังประกอบด้วยเซลล์สองชั้น ได้แก่ ชั้น epidermis เป็นชั้นนอกสุดประกอบด้วยชั้น squamous รองลงมาได้แก่ basal cell โดยมีเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) อยู่ใต้ subcutaneous และชั้น dermis เป็นชั้นที่อยู่ของต่อมขน ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน และหลอดเลือด ผิวหนังของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อแสงแดดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสีผิว หรือปริมาณของเม็ดสีที่ผิวหนัง (melanin) คนที่มีปริมาณเม็ดสีน้อย จะมีผิวขาว และมีแนวโน้มที่จะเกิดการไหม้แดด (sunburn) ได้ง่ายกว่าคนผิวคล้ำ การจำแนกชนิดของผิวหนังโดยใช้ค่า ITA (Individual Typology Angle) ด้วยการเทียบสี (colorimetric parameters) พบว่าคนที่มีผิวคล้ำมีค่า ITA ต่ำ ซึ่งมีผลยืนยันการจำแนกชนิดของผิวหนังโดยการใช้ค่า ITA ด้วยการย้อมสีตามวิธี Fontana-Masson โดยพิจารณาด้านสรีระศาสตร์ พบว่า มีความแตกต่างกันของปริมาณและการกระจายของเม็ดสีเมลานินระหว่างกลุ่มสีผิว โดยมีความสัมพันธ์ในทางกลับกันคือ สีจางที่ได้จากการย้อมจะให้ค่า ITA สูง 

              การจำแนกชนิดของผิวหนังมีการศึกษาหลากหลายวิธี ซึ่งวิธีประเมินด้วยค่า ITA เป็นวิธีการวิเคราะห์สำหรับหาปริมาณของส่วนประกอบที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถนำมาตรวจซ้ำได้ โดยแบ่งชนิดของผิวหนังด้วยการพิจารณาจากปริมาณเม็ดสีและการกระจายตัวของเมลานินโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ การหาค่า ITA จากการเทียบสีโดยใช้เครื่องวัด microflash spectrocolorimeter (Datacolor, Montreuil, France) นั้น เป็นการวัดค่าระหว่างส่วนประกอบของสีเหลือง-น้ำเงิน (yellow-blue component: b*) และค่าความจ้าหรือความสว่าง (luminance: L*) ของตัวอย่างผิว ระดับความสว่างของแสงแบ่งตั้งแต่ระดับ 0 (สีดำ) ถึง 100 (สีขาว) และค่า b* เป็นค่าความสมดุลระหว่างสีเหลือง (ค่าบวก) และสีน้ำเงิน (ค่าลบ) ค่าเพิ่มขึ้นตามความเข้มของเม็ดสี ค่า ITA คำนวณได้จากสูตร ITAº =[ArcTan((L*-50)/b*)]x180/3.14159 (Commission Internationale de l’Eclairage, 1976) ค่า ITA สามารถจำแนกชนิดของผิวได้เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ สีผิวขาวมาก (very light) > 55º > สีผิวขาว (light) > 41º > สีผิวขาวปานกลาง (Intermediate) > 28º > สีผิวน้ำตาลไหม้ (Tanned) > 10º > สีผิวน้ำตาลเข้ม (Brown) > -30º > สีผิวคล้ำ (Dark) และผลการศึกษาการจำแนกสีผิว พบว่ามีความสัมพันธ์กับ (1) ภาพถ่ายของผิว (skin phototype) (2) ค่าที่วัดได้จากการเทียบสี (skin type based on colorimetric measurements) (3) เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ (racial/ethnic origin) ผิวหนังที่ได้รับแสงแดดมากเกินไปมีผลให้ผิวหนังถูกทำลาย ทำให้เกิดการไหม้แดด  การเสื่อมสภาพของผิวจากแสงแดด (photoaging) และมะเร็งผิวหนัง (skin cancer) ซึ่งการถูกทำลายของผิวหนังมีผลเนื่องจากเม็ดสีที่อยู่ในองค์ประกอบของผิวหนัง  การวัดปริมาณเซลล์ที่ถูกทำลายหลังจากได้รับแสงอัลตราไวโอเลตจะประเมินด้วยค่า BED (biological efficient dose) พบว่า ค่า ITA และค่า BED มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีความสัมพันธ์แบบเส้นตรง (linear relationship: P<0.001; R2=0.70) การถูกทำลายของสารพันธุกรรมและสะสมที่ชั้นของผิวหนังกำพร้าและผิวหนังชั้นบนนั้นจะพบในผิวสีจาง สีจางปานกลาง และสีน้ำตาลไหม้ แต่ในทางตรงกันข้ามจะไม่ปรากฏในผิวหนังสีน้ำตาลและผิวสีคล้ำ