ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

คุณภาพตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง

              1. มาตรฐานของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ราชกิจจานุเบกษา, 2545)

              ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรสภาพหัวมันสำปะหลัง ไม่ว่าจะมีลักษณะป่น หรือเป็นชิ้น แผ่น ก้อน แท่ง เม็ด หรือลักษณะอื่นใดที่ไม่ใช่สำหรับบริโภค และไม่หมายความรวมถึงแป้งมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง และมันสำปะหลังที่ปอกเปลือกให้สะอาด แล้วบรรจุในภาชนะที่เหมาะสมที่แสดงให้เห็นว่าใช้สำหรับบริโภค โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไว้ดังนี้

                   (1) มีแป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 65.0 โดยน้ำหนัก
                   (2) มีเส้นใยของหัวมันสำปะหลังไม่เกินร้อยละ 5.0 โดยน้ำหนัก
                   (3) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 14.0 โดยน้ำหนัก เว้นแต่ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน    ไม่เกินร้อยละ 14.3 โดยน้ำหนัก
                   (4) ไม่มีวัตถุอื่นเจือปน เว้นแต่ดินทรายที่ติดมากับหัวมันสำปะหลังตามสภาพปกติไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยน้ำหนัก หรือในกรณีที่มีการผสมกากน้ำตาลหรือผสมน้ำมันพืชหรือสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงเป็นสารตัวเชื่อม (Binder) กากน้ำตาลหรือน้ำมันพืชหรือสิ่งอื่นๆ นั้น รวมกันหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นสิ่งอื่นๆ ต้องมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยน้ำหนัก สำหรับสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะผสมร่วมกับสารตัวเชื่อมชนิดอื่นหรือไม่ก็ตามต้องมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนัก
                   (5) ไม่มีกลิ่นและสีผิดปกติ
                   (6) ไม่บูด เน่า หรือขึ้นรา
                   (7) ไม่มีแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่
              ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเม็ดแข็ง นอกจากต้องมีคุณภาพตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะต้องมีความแข็งเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 12.0 กิโลกรัม โดยเครื่องมือทดสอบความแข็งของคาห์ล (Kahl hardness  tester) หรือเครื่องมืออื่นที่เปรียบเทียบค่าความแข็งกันได้ และมีฝุ่นไม่เกินร้อยละ 8.0 โดยน้ำหนัก รวมทั้งในกรณีที่ส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังออกโดยมีการบรรจุหรือหุ้มห่อ ภาชนะที่ใช้ในการบรรจุหุ้มห่อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย แข็งแรง ไม่ขาด ไม่รั่ว ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสำหรับการส่งออก และผู้ทำการค้าขาออกได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าวไว้ในคำร้องขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าแล้ว
 

              2. มาตรฐานของแป้งมันสำปะหลัง (ราชกิจจานุเบกษา, 2549)

              แป้งมันสำปะหลัง หมายถึง แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช (Tapioca starch) และแป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช (Tapioca modified starch) ซึ่งแป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ชเป็นแป้งที่ได้จากหัวมันสำปะหลัง เมื่อผ่านกระบวนการผลิตมีสีขาวหรือสีครีมอ่อน ส่วนแป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ชเป็นแป้งที่ได้จากการนำแป้งมันสำปะหลังมาเปลี่ยนสมบัติทางเคมี และ/หรือทางฟิสิกส์ จากเดิมด้วยความร้อน และ/หรือเอนไซม์ และ/หรือสารเคมีชนิดต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้แป้งมันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้กำหนดคุณภาพของแป้งมันสำปะหลัง ไว้ดังนี้

                    (1) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ให้แบ่งมาตรฐานออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

                          -  แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น พิเศษ (Tapioca starch premium grade)
                          -  แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 1 (Tapioca starch first grade)
                          -  แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 2 (Tapioca starch second grade)
                    (2) แป้งมันสำปะหลังสตาร์ชแต่ละชั้น ให้กำหนดมาตรฐานไว้ ดังนี้

                         (2.1) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น พิเศษ ต้องมี

                          -  แป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 โดยน้ำหนัก
                          -  ความชื้นไม่เกินร้อยละ 13 โดยน้ำหนัก
                          -  เถ้าไม่เกินร้อยละ 0.20 โดยน้ำหนัก
                          -  เยื่อไม่เกิน 0.2 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อน้ำหนักแป้ง 50 กรัม
                          -  ความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 7.0 
                          -  ส่วนของแป้งที่สามารถผ่านตะแกรงขนาด 150 ไมโครเมตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก
                        (2.2) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 1 ต้องมี
                          -  แป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 83 โดยน้ำหนัก
                          -  ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 โดยน้ำหนัก
                          -  เถ้าไม่เกินร้อยละ 0.30 โดยน้ำหนัก
                          -  เยื่อไม่เกิน 0.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อน้ำหนักแป้ง 50 กรัม
                          -  ความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 7.0 
                          -  ส่วนของแป้งที่สามารถผ่านตะแกรงขนาด 150 ไมโครเมตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก
                        (2.3) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 2 ต้องมี
                          -  แป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก
                          -  ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 โดยน้ำหนัก
                          -  เถ้าไม่เกินร้อยละ 0.50 โดยน้ำหนัก
                          -  เยื่อไม่เกิน 1.0 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อน้ำหนักแป้ง 50 กรัม
                          -  ความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 7.0 
                          -  ส่วนของแป้งที่สามารถผ่านตะแกรงขนาด 150 ไมโครเมตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก

                    (3) มาตรฐานแป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช

                          แป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช ต้องผลิตจากโรงงานที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการโมดิไฟด์แป้ง โดยกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน     ระบบบริหารคุณภาพในระดับสากล และผลิตภัณฑ์มีสมบัติทางเคมีหรือฟิสิกส์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากแป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช อันเนื่องมาจากผลของการโมดิไฟด์

                          แป้งมันสำปะหลังทุกประเภททุกชั้น ต้องไม่บูด เน่า หรือขึ้นรา ไม่มีกลิ่น และ/หรือสีผิดปกติ ไม่มีแมลงและวัตถุอื่น เว้นแต่วัตถุหรือสารอันจะพึงมีได้ในกรรมวิธีการผลิตแป้งมันสำปะหลังตามปกติเท่านั้น รวมทั้ง แป้งมันสำปะหลังให้บรรจุในภาชนะที่เหมาะสม สะอาด และปิดผนึกภาชนะที่บรรจุให้เรียบร้อย และต้องแสดงข้อความ Product of Thailand  หรือชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในประเทศไทย เว้นแต่ผู้ซื้อไม่ต้องการให้แสดงข้อความดังกล่าว