ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

การจำแนกชนิดของกล้วย

                กล้วยจัดอยู่ในอันดับ (Order) Zingiberalesประกอบด้วย 8 วงศ์ (Family) คือ

                (1) Musaceae ได้แก่ กล้วยทั้งหลาย

                (2) Strelitziaceae ได้แก่ กล้วยพัด

                (3) Heliconiaceae ได้แก่ ก้ามกุ้ง ธรรมรักษา

                (4) Lowiaceae ได้แก่ พืชในสกุล Orchidantha ซึ่งไม่มีในประเทศไทย

                (5) Costaceae ได้แก่ เอื้องหมายนา

                (6) Zingiberaceae ได้แก่ ขิงทั้งหลาย

                (7) Marantaceae ได้แก่ คล้า

                (8) Cannaceae ได้แก่ พุทธรักษา

                โดยกล้วยในวงศ์ Musaceae มีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับ สามารถแบ่งออกเป็น 3 สกุล (Genus) คือ

(1) สกุล Ensete เป็นกล้วยที่ไม่มีการแตกหน่อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยมี 2 ชนิด (Species) ได้แก่ กล้วยผา (E. superba) และ กล้วยนวล (ภาพที่ 8) กล้วยญวน (E. glauca) กล้วยในสกุลนี้ประเทศไทยไม่มีการนำมาบริโภค แต่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกานำแป้งที่ได้จากลำต้นมาใช้บริโภค   

                (2) สกุล Musaเป็นกล้วยที่มีการแตกหน่อ และนิยมใช้หน่อในการขยายพันธุ์ มีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับ แบ่งออกเป็น 4 หมู่ (Section) ได้แก่

  • หมู่ Australimusa กล้วยชนิดนี้มีช่อดอกตั้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปออสเตรเลีย จนถึงประเทศฟิลิปปินส์ เส้นใยของลำต้นเทียมมีความเหนียวมาก เหมาะสำหรับใช้ในการทำเชือก กระดาษ และทอเป็นผ้า
  • หมู่ Callimusa ส่วนใหญ่เป็นกล้วยประดับ ในประเทศไทยมีกล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด(Musa gracillis) ใบสีเขียว มีปื้นสีม่วง เมื่อโตเต็มที่สีของปื้นอาจจางลง ช่อดอกตั้ง ผลมีขนาดเล็ก ใช้ประดับเพราะมีใบสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้ากล้วยกัทลี หรือรัตกัทลี (Musa coccinea) จากประเทศอินโดนีเซีย กล้วยชนิดนี้มีใบประดับสีแดงสดใส ช่อดอกตั้ง ใช้เป็นไม้ตัดดอกได้เป็นอย่างดี
  • หมู่ Rhodochlamys หรือเรียกกันว่า กล้วยบัว ใช้เป็นไม้ประดับ มีความสวยงามของช่อดอกที่คล้ายดอกบัว ใบประดับมีสีสวยงามและสดใส กล้วยบัวที่มีใบประดับสีชมพูอมม่วง เรียกว่า กล้วยบัวสีชมพู (Musa ornata) หากมีใบประดับสีส้ม เรียกว่า กล้วยบัวสีส้ม (Musa laterita) (ภาพที่ 8)ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทยพบมากในภาคเหนือ รวมถึงยังมีการนำเข้ากล้วยบัวสีม่วงและสีชมพูอ่อนจากต่างประเทศอีกด้วย
  • หมู่ Eumusa พบอยู่ประมาณ 9-10 ชนิด มีทั้งกล้วยป่า และกล้วยกินได้ ซึ่งกล้วยกินได้นั้นถือกำเนิดมาจากกล้วย 2 ชนิดผสมกัน คือ กล้วยป่า (Musa acuminata) กับกล้วยตานี (Musa balbisiana) ผ่านวิวัฒนาการอันยาวนานนับหลายพันปี กล้วยป่ามีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนกล้วยตานีมี    ถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หรือเอเชียใต้ ต่อมาได้เกิดการผสมพันธุ์กันขึ้นระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี ทำให้เกิดสายพันธุ์กล้วยลูกผสมดังกล่าว นอกจากนี้ อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดสายพันธุ์มากกว่า 100 สายพันธุ์ และเกิดการพัฒนาจากกล้วยที่มีเมล็ด เป็นกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ทำให้กล้วยที่รับประทานกันในปัจจุบันไม่มีเมล็ด

                (3) สกุล Musellaเป็นกล้วยที่จัดอยู่ในสกุลใหม่ ต้นเตี้ย คล้ายกล้วยผา ลำต้นเทียม มีลักษณะพองเช่นกัน แต่มีการแตกกอที่เกิดจากมุมระหว่างใบ มีช่อดอกตั้ง และกลีบใบประดับสีเหลืองสดใส ขนาดของดอกใหญ่ เช่น กล้วยคุนหมิง (ภาพที่ 8)

        

(ที่มา : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, 2560)

ภาพที่ 8 กล้วยในวงศ์ Musaceae3 สกุล คือ กล้วยนวล - สกุล Ensete(ซ้าย) กล้วยบัวสีส้ม - สกุล Musa(กลาง) และ กล้วยคุนหมิง - สกุล Musella(ขวา) 

การจำแนกกลุ่มของกล้วย

                การจำแนกกลุ่มของกล้วยสามารถจำแนกได้ 2 วิธี ได้แก่

                (1) การจำแนกกลุ่มของกล้วยตามวิธีการนำมาบริโภค แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  • กล้วยกินสด เมื่อกล้วยสุกสามารถนำมารับประทานได้ทันที โดยไม่ต้องนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน เพราะเมื่อสุกเนื้อจะนิ่ม มีรสหวาน เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว
  • กล้วยที่ต้องนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน กล้วยเหล่านี้มีแป้ง เมื่อดิบจะมีแป้งมาก เนื้อค่อนข้างแข็ง เมื่อสุกก็ยังมีส่วนของแป้งมากกว่ากล้วยกินสด เนื้อจึงไม่ค่อยนิ่ม รสไม่หวาน จึงต้องนำมาต้ม เผา ปิ้ง เชื่อม   ถึงจะอร่อย และมีรสชาติดีขึ้น เช่น กล้วยกล้าย กล้วยหักมุก กล้วยเล็บช้างกุด

                (2) การจำแนกกลุ่มของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรม

                 ในปี พ.ศ. 2498  นักวิชาการได้เริ่มจำแนกกลุ่มของกล้วยตามหลักวิชาการสมัยใหม่ ซึ่งมีการแยกกลุ่มตามลักษณะทางพันธุกรรมโดยใช้จีโนม (Genome) ของกล้วยเป็นตัวกำหนด กล้วยที่บริโภคกันในปัจจุบันนี้มีบรรพบุรุษเพียง 2 ชนิด ได้แก่ กล้วยป่า (Musa acuminata) และกล้วยตานี (Musa balbisiana) กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมเป็น AA กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนมเป็น BB ส่วนกล้วยที่เกิดจากลูกผสมของกล้วยทั้ง 2 ชนิด จะมีจีโนมแตกต่างกันไป การจำแนกกล้วยว่าจะอยู่ในจีโนมกลุ่มใด นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน 2 คน คือ ซิมมอนดส์ และเชบเฟิร์ด (Simmonds and Shepherd) ได้เสนอให้ใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยารวมทั้งหมด 15 ลักษณะ มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ดังตารางที่ 1  

ตารางที่ 1ลักษณะที่ใช้ในการพิจารณาให้คะแนนกล้วยเพื่อแบ่งกลุ่มกล้วยตามลักษณะของจีโนม

ลักษณะ

M. acuminata(กลุ่ม A)

M. balbisiana(กลุ่ม B)

สีของกาบใบ

มีจุดหรือปื้นสีน้ำตาลหรือดำ

มีจุดจางๆ หรือไม่มีเลย

ร่องของกาบใบ

ขอบก้านใบตั้งหรือแผ่กางออก

มีครีบหรือปีก

ขอบก้านใบม้วนเข้าหากันจนชิด

ไม่มีปีก

ก้านช่อดอก

มีขน

เรียบ ไม่มีขน

ก้านดอก

สั้น

ยาว

โอวุล (ไข่)

มีไข่ 2 แถวในแต่ละช่อง

มีไข่ 4 แถว แต่ไม่สม่ำเสมอ

ไหล่ของกาบปลี

อัตราส่วน < 0.28

อัตราส่วน > 0.30

การม้วนของกาบปลี

ม้วนไปข้างหลัง หลังจากดอกบาน

กาบปลีชูตั้งขึ้นเมื่อดอกบาน

รูปร่างของกาบปลี

Lanceolate หรือ Ovate แคบๆ

Ovate กว้าง

ปลาบของกาบปลี

แหลม (Acute)

มน (Obtuse)

การซีดของกาบปลีด้านใน

ซีดจากโคนไปถึงปลาย

สีแดงสม่ำเสมอ

รอยแผลของกาบปลี

เป็นโหนกเห็นชัดเจน

โหนกไม่เป็นสัน

กลีบดอกตัวผู้

ที่ปลายมีรอยย่นชัดเจน

ไม่มีรอยย่น

สีดอกตัวผู้

ครีมปนขาว

สีชมพูอ่อน

สีดอกตัวเมีย

ส้มค่อนข้างเหลือง

ครีม เหลืองซีดหรือชมพูอ่อน

สีของกาบปลี

กาบปลีด้านนอกสีแดง ม่วงเข้ม

หรือเหลือง ส่วนด้านในสีชมพู

ม่วงเข้ม และเหลือง

ด้านนอกสีม่วงอมน้ำตาล

ด้านในสีแดงสด

 

                                           (ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)
 

ปัจจุบันกล้วยในประเทศไทย สามารถจำแนกกลุ่มตามจีโนมได้ 8 กลุ่ม คือ

  • กลุ่ม AA เป็นกล้วยที่มีกำเนิดมาจากกล้วยป่า ซึ่งอาจเกิดจากการผสมภายในชนิดย่อย (Subspecies) หรือระหว่างชนิดย่อย หรืออาจเกิดจากการกลายพันธุ์ กล้วยกลุ่มนี้มักมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะไม่มีเมล็ด รสหวาน กลิ่นหอม รับประทานสด ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอมจันทร์ กล้วยไข่ทองร่วง (ภาพที่ 9) กล้วยไข่จีน กล้วยน้ำนม  กล้วยไล กล้วยสา กล้วยหอม กล้วยหอมจำปา กล้วยทองกาบดำ
  • กลุ่ม AAA เป็นกล้วยที่มีกำเนิดคล้ายกับกลุ่ม AA แต่ได้มีการเพิ่มจำนวนโครโมโซมขึ้นเป็น 3เท่า โดยมีจำนวนโครโมโซม 2n = 33ผลจึงมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มแรก รูปร่างผลเรียวยาว มีเนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นหอม รับประทานสด ได้แก่ กล้วยหอมทอง (ภาพที่ 9) กล้วยนาก กล้วยครั่ง กล้วยหอมเขียว กล้วยกุ้งเขียว กล้วยหอมแม้ว กล้วยไข่พระตะบอง กล้วยคลองจัง
  • กลุ่ม BB ในประเทศไทยมีแต่กล้วยตานี ซึ่งเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย รับประทานผลอ่อนได้ โดยนำมาใส่แกงเผ็ด ทำส้มตำ ไม่นิยมรับประทานผลแก่ เพราะมีเมล็ดมาก แต่คนไทยและคนเอเชียส่วนใหญ่รับประทานปลีและหยวก ในประเทศไทยไม่มีกล้วยกินได้ในกลุ่ม BB แต่พบว่ามีที่ประเทศฟิลิปปินส์
  • กลุ่ม BBB  เป็นกล้วยที่มีกำเนิดมาจากกล้วยตานี กล้วยชนิดนี้มีแป้งมาก เมื่อดิบมีรสฝาดมากเมื่อสุกก็ยังมีแป้งมากจึงไม่ค่อยหวาน ขนาดผลใหญ่ เมื่อนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน จะทำให้รสชาติดีขึ้น เนื้อเหนียวนุ่ม ได้แก่ กล้วยเล็บช้างกุด (ภาพที่ 9)
  • กลุ่ม AAB เป็นกล้วยลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี โดยมีเชื้อของกล้วยป่า 2 ใน 3 และมีเชื้อของกล้วยตานี 1 ใน 3 กล้วยชนิดนี้มีรสหวาน มีแป้งผสมอยู่บ้างในเนื้อ ทำให้มีความเหนียว บางชนิดรับประทานสดได้ บางชนิดต้องทำให้สุก กล้วยในกลุ่มนี้ ได้แก่ กล้วยน้ำฝาด กล้วยนมสวรรค์ กล้วยนิ้วมือนาง กล้วยไข่โบราณ กล้วยทองเดช กล้วยศรีนวล กล้วยขม กล้วยนมสาว แต่มีกล้วยกลุ่ม AAB บางชนิดคล้ายกับกลุ่ม ABB คือ เนื้อจะค่อนข้างแข็ง มีแป้งมาก เมื่อสุกเนื้อไม่นุ่ม โดยอาจได้รับเชื้อพันธุกรรมของกล้วยป่าที่ต่าง Subspecies กัน จึงทำให้ลักษณะต่างกัน กล้วยในกลุ่มนี้เรียกว่า Plantain subgroup ซึ่งจะต้องทำให้สุกด้วย      การต้ม ปิ้ง เผา เช่นเดียวกับกลุ่ม ABB ได้แก่ กล้วยกล้าย กล้วยงาช้าง กล้วยนิ้วจระเข้ (ภาพที่ 9)กล้วยหิน     กล้วยพม่าแหกคุก
  • กลุ่ม ABB เป็นกล้วยลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานีเช่นกัน แต่มีเชื้อของกล้วยป่าอยู่น้อยกว่าเชื้อของกล้วยตานี คือ มีเชื้อของกล้วยป่าอยู่เพียง 1 ใน 3 และมีเชื้อของกล้วยตานี 2 ใน 3 เนื้อกล้วยมีแป้งมาก ขนาดผลใหญ่ ไม่นิยมรับประทานสด เนื่องจากผลสุกรสไม่หวานมาก บางครั้งมีรสฝาด เมื่อนำมาต้ม ปิ้ง ย่าง และเชื่อม จะทำให้รสชาติดีขึ้น กล้วยในกลุ่มนี้ ได้แก่ กล้วยหักมุกเขียว กล้วยหักมุกนวล กล้วยเปลือกหนา กล้วยส้ม กล้วยนางพญา กล้วยนมหมี กล้วยน้ำว้า (ภาพที่ 9) สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้า ทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว สำหรับกล้วยตีบ เหมาะที่จะรับประทานผลสด เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด
  • กลุ่ม ABBB เป็นกล้วยที่เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานีเช่นกัน เป็นกล้วยที่มีจำนวนโครโมโซมมากเป็น 4 เท่า จึงมีผลขนาดใหญ่มาก กล้วยในกลุ่มนี้มีอยู่ชนิดเดียว คือ กล้วยเทพรส        (ภาพที่ 9) กล้วยชนิดนี้จะมีเชื้อของกล้วยป่าอยู่เพียง 1 ใน  4 และมีเชื้อของกล้วยตานีอยู่ 3 ใน 4 มีแป้งมาก ผลที่สุกงอมจะมี     รสหวาน นอกจากนี้ บางครั้งมีดอกเพศผู้หรือปลี แต่หากไม่มีดอกเพศผู้จะไม่เห็นปลี และมีผลขนาดใหญ่ ถ้ามีดอกเพศผู้ ผลจะมีขนาดเล็กกว่า มีหลายหวีและหลายผล การมีปลีและไม่มีปลีนี้เกิดจากการกลายพันธุ์แบบกลับไปกลับมาได้ ดังนั้น ในกอเดียวกันอาจมีทั้งกล้วยเทพรสมีปลี และไม่มีปลี หรือบางครั้งมี 2-3 ปลี ในสมัยโบราณเรียกกล้วยเทพรสที่มีปลีว่า กล้วยทิพรส
  • กลุ่ม AABB กล้วยกลุ่มนี้เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี โดยมีเชื้อของกล้วยป่าอยู่ครึ่งหนึ่ง และกล้วยตานีอีกครึ่งหนึ่ง มีจำนวนโครโมโซมเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ผลจึงมีขนาดใหญ่ กล้วยในกลุ่มนี้มีอยู่ชนิดเดียวในประเทศไทย คือ กล้วยเงิน รูปร่างคล้ายกล้วยไข่ เมื่อสุกผิวสีเหลืองสดใส เนื้อผลสีส้ม มีแป้งมาก รับประทานผลสด

                 

กล้วยไข่ทองร่วง (กลุ่ม AA)                           กล้วยหอมทอง (กลุ่ม AAA)  

                                                                               

                                                                       กล้วยเล็บช้างกุด (กลุ่ม BBB)                           กล้วยนิ้วจระเข้ (กลุ่ม AAB)

                                                                                 

                                                                          กล้วยน้ำว้า (กลุ่ม ABB)                                 กล้วยเทพรส (กลุ่ม ABBB)

                                                                                                   (ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)

                                                                                  ภาพที่ 9 ตัวอย่างกล้วยบางสายพันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทย