หมวด: พรรณไม้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kadsura spp.

วงศ์ : Schisandraceae

    

 

 

 


ประวัติความเป็นมา

          น้อยหน่าเครือ หรือน้อยหน่าป่า หรือซากรวยซา หรือสะกึ๊ยสะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Kadsura spp. เป็นไม้เถาเลื้อยจัดอยู่ในตระกูล Schisandraceae พบหาได้จากในป่าบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ เป็นพืชหายาก และเป็นพืชอนุรักษ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการรายงานพืชชนิดนี้ของไทยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Flora of Thailand (Chusir and Paritat, 1999) พบเพียงสายพันธุ์เดียวคือ Kadsura ananosma Kerr (หรือชื่อพ้อง Kadsura coccinea (Lem.) Smith.) ในประเทศไทย จากการสำรวจของคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ภาคเหนือ เมื่อปี 2554

ที่มา : จุลสารสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ฉบับที่ 4 ปีที่ 22 กรกฎาคม - สิงหาคม พ.ศ. 2560

 

สายพันธุ์

1. Kadsura acsmithii - พบที่เกาะบอร์เนียว (Borneo) มีประเทศ 3 ประเทศอยู่ในเกาะบอร์เนียว คือ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ในทางภูมิศาสตร์ เกาะบอร์เนียวเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
2. Kadsura angustifolia - พบที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi) เป็นเขตปกครองตนเองระดับจังหวัดตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน มีเมืองเอกคือหนานหนิง และยังพบที่เวียดนาม
3. Kadsura borneensis - พบที่รัฐซาบะฮ์ (Sabah) ประเทศมาเลเซีย
4. Kadsura celebica - พบที่เกาะซูลาเวซี (Sulawesi)
5. Kadsura coccinea - พบที่จีน ไทย และอินโดจีน (Indochina)
6. Kadsura heteroclita - พบที่จีน อนุทวีปอินเดีย (Indian Subcontinent) อินโดจีน (Indochina) เกาะบอร์เนียว (Borneo) และเกาะสุมาตรา (Sumatra)
7. Kadsura induta - พบที่มณฑลยูนนาน (Yunnan) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi) และเวียดนาม 
8. Kadsura japonica - พบที่ญี่ปุ่น เกาหลี หมู่เกาะนันเซ (Nansei-shoto) ในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน 
9. Kadsura lanceolata - พบที่มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว (Borneo) เกาะสุมาตรา (Sumatra) เกาะซูลาเวซี (Sulawesi) และจังหวัดมาลูกู (Maluku) จังหวัดของประเทศอินโดนีเซีย
10. Kadsura longipedunculata - พบที่จีน
11. Kadsura marmorata - พบที่เกาะบอร์เนียว (Borneo) และฟิลิปปินส์
12. Kadsura oblongifolia - พบที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi) มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) และมณฑลไหหลำ (Hainan)
13. Kadsura philippinensis - พบที่ฟิลิปปินส์
14. Kadsura renchangiana - พบที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi)
15. Kadsura scandens - พบที่มาเลเซียตะวันตก เกาะสุมาตรา (Sumatra) เกาะชวา (Java) และบาหลี (Bali)
16. Kadsura verrucosa - พบที่ลาว เวียดนาม มาเลเซียตะวันตก เกาะสุมาตรา (Sumatra) และเกาะชวา (Java)
 

       


ลักษณะ

            ผลน้อยหน่าเครือจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม มีสีสันสวยงาม รูปร่างของผลและกลิ่นคล้ายน้อยหน่า ผลสุกสามารถรับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยเนื้อผลสุกจะมีรสชาติหวาน หรือหวานอมเปรี้ยวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
 
 

การนำไปใช้

            มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการบริโภคน้อยหน่าเครือของ Sun et al. (2011) พบว่าน้อยหน่าเครือสายพันธุ์ Kadsura coccinea มีคุณค่าทางสารอาหาร และมีสารยับยั้งอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะสารประกอบฟีนอลซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่สูง และมีปริมาณไขมันมากกว่าองุ่น แอปเปิล และกล้วย ประกอบกับน้อยหน่าเครือเป็นผลไม้ที่มีปริมาณของเหลวมาก จึงมักจะมีการนำน้อยหน่าเครือมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และไวน์เป็นส่วนใหญ่ ในประเทศจีนยังนำน้อยหน่าเครือมาใช้เป็นสมุนไพร โดยใช้ส่วนเถาและราก ช่วยแก้ในเรื่องของโรคทางเดินอาหาร และไขข้ออักเสบ อีกทั้งปัจจุบันยังพบด้วยว่าน้อยหน่าเครือเป็นยาที่ทรงคุณค่าในการป้องกันเนื้องอก ช่วยต้านเชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบ

ที่มา : ชีราวัฒน์ อภิธนัง. 2559. ผลของอุณหภูมิและเวลาในการให้ความร้อนต่อคุณภาพทางเคมีของน้ำน้อยหน่าเครือ. การประชุมวิชาการงานเกษตรนเรศวร ครั้งที่ 14 (1): 293-298.

 

 

เผยแพร่เมื่อ 15 ตุลาคม 2563
ฮิต: 3779