ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ความแตกต่างของไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล

              ไบโอดีเซลมีที่มาจากพืชหรือสัตว์ สามารถหาทดแทนได้ด้วยการปลูกหรือเลี้ยงใหม่ แต่น้ำมันดีเซลเป็นสิ่งที่ได้มาจากการกระทำของธรรมชาติโดยตรง อาจจะต้องใช้เวลาหลายล้านปีจึงจะได้เป็นน้ำมันดีเซล ขั้นตอนการผลิตไบโอดีเซลต้องใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย รวมทั้งการใช้เอนไซม์ซึ่งต้องอาศัยปฏิกิริยาทางเคมีหรือชีวเคมี  แต่การผลิตน้ำมันดีเซลต้องใช้การขุดเจาะไปใต้ดินเพื่อนำน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันชนิดต่างๆ ประเทศไทยไม่มีแหล่งในการขุดเจาะน้ำมันที่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นราคาน้ำมันดีเซลอาจมีการผันผวนได้ขึ้นกับตลาดต่างประเทศ แต่สำหรับไบโอดีเซลนั้นสามารถผลิตได้เองในประเทศ ทำให้สามารถที่จะควบคุมราคาของน้ำมันไบโอดีเซลได้ง่ายกว่าน้ำมันดีเซล สมบัติของไบโอดีเซล พบว่ามีค่าทางการไหลและการเผาไหม้ที่คล้ายกับน้ำมันดีเซล ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนน้ำมันดีเซลหรือสามารถนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลและใช้ในเครื่องยนต์ได้ เมื่อใช้ไบโอดีเซล 100% จะให้พลังงานเท่ากับ 90% ของน้ำมันดีเซล โดยสามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลปกติได้ การเปรียบเทียบค่าต่างๆ ตามมาตรฐานของ ASTM ของน้ำมันดีเซลและไบโอดีเซล พบว่าไบโอดีเซลมีปริมาณกำมะถันน้อยกว่าน้ำมันดีเซล ไบโอดีเซลมีกำมะถันเป็น 20-50% ของน้ำมันดีเซล D2 ไบโอดีเซลจากไขสัตว์มีค่าการหล่อลื่นดีกว่าน้ำมันปิโตรเลียม โดยพบว่าค่าการหล่อลื่นมาจากการมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณมาก และยังขึ้นอยู่กับปริมาณของ hydroxylated ester และปริมาณกลีเซอรีนอิสระ (free glycerin) นอกจากนี้ยังพบว่าความหนืดของน้ำมันดีเซลจุดวาบไฟ น้ำหนัก และความหนาแน่นของไบโอดีเซลมีค่ามากกว่าน้ำมันดีเซล (Lotero, E., et al., 2005)
              เนื่องจากไบโอดีเซลมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดคือ ไบโอดีเซล B5 B20 และ B100 ซึ่งทั้ง 3 ชนิดจะมีสมบัติทางฟิสิกส์และสมบัติทางการเผาไหม้ที่แตกต่างกันรวมทั้งค่าการปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังแสดงในตารางที่ 3
ตารางที่ 3 เปรียบเทียบสมบติการปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมของไบโอดีเซล B100 กับ B20 

 

B100

B20

ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์

-48

-12

ไฮโดรคาร์บอนจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

-67

-20

อนุภาคขนาดเล็ก

-47

-12

ไนโตรเจนออกไซด์

-10

+2

ซัลเฟต

-100

-20

ก๊าซพิษ

-60 ถึง -90

-12 ถึง -20

สารก่อมะเร็ง

-80 ถึง -90

-20


ที่มา : Lotero, E., et al. (2005)

              จากตารางที่ 3 สามารถสรุปได้ว่าการใช้ไบโอดีเซล B100 จะปลดปล่อยของเสียโดยรวมออกมาในปริมาณน้อยกว่าการใช้ไบโอดีเซล B20 โดยพบว่าไบโอดีเซล B100 สามารถปลดปล่อยก๊าซพิษลดลงกว่าน้ำมันดีเซลปกติได้ถึง 60 ถึง 90% ขณะที่การใช้ไบโอดีเซล B20 ลดการปลดปล่อยก๊าซพิษได้เพียง 12 ถึง 20% เท่านั้น รวมทั้งค่าของสารก่อมะเร็งจากการใช้ไบโอดีเซล B100 มีการลดลง 80% ถึง 90% ส่วนไบโอดีเซล B20 จะปล่อยสารก่อมะเร็งลดลง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล จากข้อมูลนี้จึงควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล B100 เพื่อช่วยลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม